โกงกาง กับ กงกาง

         ป่าชายเลน (mangrove forest) เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ที่มีอยู่ในป่าประเภทนี้ มักมีรากงอกออกไปจากลำต้นและมีกิ่งก้านสาขาเพื่อค้ำยันลำต้นและยึดแน่นกับพื้นเลนไว้ พรรณไม้ชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในป่าชายเลน คือ โกงกาง

         คำว่า โกงกาง มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ไม้ต้นในสกุล Rhizophora วงศ์ Rhizophoraceae ขึ้นตามป่าเลนชายทะเล นิยมใช้ทําฟืนและเผาถ่านกันมาก เมล็ดงอกตั้งแต่อยู่บนต้น ลักษณะเรียวยาวคล้ายฝัก มี ๒ ชนิด คือ โกงกางใบใหญ่ หรือ กงกอน (R. mucronata Poir.) และ โกงกางใบเล็ก (R. apiculata Blume) ชนิดนี้นิยมใช้ทำฟืนและเผาถ่านกันมาก พังกา ก็เรียก นอกจากนี้ ยังมีไม้ต้นอีกหลายชนิดที่ชื่อมีคำว่า “โกงกาง” ประกอบอยู่ด้วย ทำให้หลายคนอาจนึกว่าเป็นพรรณไม้วงศ์เดียวกัน แต่เป็นพรรณไม้คนละวงศ์กับโกงกาง เช่น โกงกางบก เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Myrtaceae โกงกางหูช้าง เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Rubiaceae โกงกางเขา เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Gentianaceae โกงกางน้ำจืด เป็นพรรณไม้ในวงศ์ Acanthaceae

         พรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีเสียงของคำใกล้เคียงกับคำว่าโกงกางแต่ออกเสียงสั้นกว่า คือ กงกาง ซึ่งเป็นพรรณไม้ในวงศ์ Labiatae มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญคือ เป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย อาจมีหนามตามกิ่งแก่ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ มีขนนุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอก เมล็ดมีขนาดเล็ก รูปขอบขนาน ในประเทศไทยพบกงกางขึ้นตามพื้นที่เปิดโล่งริมลำธารหรือป่าดิบชื้นทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้.

อารี พลดี