โครงการอพอลโล

          ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะสามารถคิดและทำการใหญ่อย่างการไปเหยียบดวงจันทร์ได้  แต่ความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงจากนโยบายที่แน่วแน่ของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy)  หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์สากล ภูมิภาคอเมริกา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึงโครงการอพอลโลไว้ว่า  

          โครงการอพอลโล เป็นโครงการที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๑ เป็นนโยบายที่สหรัฐอเมริกาจะส่งคนขึ้นไปยังดวงจันทร์และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัยให้สำเร็จก่อนทศวรรษ ๑๙๖๐ จะสิ้นสุดลง โดยองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติหรือนาซา (NASA) ได้รับนโยบายนี้ไปดำเนินการ  ในช่วงแรกได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ยานอพอลโลเอเอส-๒๐๔  ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรก  นักบินทั้ง ๓ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗  ทำให้โครงการอพอลโลต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว  และต่อมาได้มีการส่งยานอวกาศที่ไม่มีคนบังคับขึ้นไป เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๗  หลังจากนั้น จึงได้ส่งยานอพอลโล ๗ ซึ่งมีมนุษย์อวกาศขึ้นไปควบคุมเป็นครั้งแรก  โครงการอพอลโลก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งยานอพอลโล ๑๑ ที่ถูกยิงขึ้นไปบนอวกาศเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ โดยมีมนุษย์อวกาศ ๓ คนได้ประสบความสำเร็จตามนโยบายของประธานาธิบดีเคนเนดี  มนุษย์อวกาศ ๒ คนที่ได้ลงไปเหยียบผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม  คนแรกคือ นีล ออลเดน อาร์มสตรอง และเอดวิน อี. ออลดริน 

          ในการสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก  นับว่าโครงการอพอลโลประสบความสำเร็จอย่างงดงามภายในเวลา ๘ ปีหลังจากที่ประธานาธิบดีเคนเนดีประกาศนโยบายที่จะให้นักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปดวงจันทร์  หลังจากนั้น สหรัฐอเมริกายังได้ส่งยานอพอลโลไปอีก ๖ ครั้ง  โดยมียานอพอลโล ๑๗ เป็นยานที่เดินทางไปดวงจันทร์เป็นครั้งสุดท้ายของโครงการ นับได้ว่าโครงการอพอลโลเป็นโครงการที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวอเมริกัน  เพราะแสดงถึงความเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี และนับเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำของโลกตลอดมา.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์