โฉลก

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้บทนิยามคำ โฉลก [ฉะโหฺลก] ว่า โชค โอกาส; ลักษณะซึ่งมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ถ้าดีเรียกว่า ถูกโฉลก ถ้าไม่ดีเรียกว่า ไม่ถูกโฉลก มักกำหนดด้วยการดูลักษณะ วัดขนาด นับจำนวน เป็นต้น ของคน สัตว์ สิ่งของ ว่าเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล อีสานเรียก โสก; ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง โฉลกแรก ก็ว่า

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๑๐ ขุนวิจิตรมาตรา อธิบายไว้ว่า โฉลก เป็นคำใช้ทางโหราศาสตร์และในทางไสยศาสตร์ หรือการทำเคล็ดต่าง ๆ ในตำราโหราศาสตร์มีใช้หลายอย่าง เช่น หญิงชายผู้ใดเกิดในเดือนแปด อังคาร เป็นสหัสชะ ทายว่าผู้นั้นคบคนรูปร่างดำแดง จึงจะต้องโฉลก เกี่ยวกับฤกษ์ต่าง ๆ มีโคลงว่า

                    “สุริยศรีแปดค่ำชื่อ      ชัยโชค
          เจ็ดพุธจันทรโยค                   ยิ่งแท้
 
          สิบเอ็ดภุมม์โฉลก                   
ครูสี่ 
          ศุกร์หนึ่งเสาร์สิบเอ็ดแล้
          เลิศให้กอปการ”

แปลว่า วันอังคาร (ภุมม์) ขึ้นหรือแรม ๑๑ ค่ำ ทำการงานต่างๆ จึงจะต้องโฉลก ในการเดินทาง จะดูว่าฤกษ์วันใดดีร้ายอย่างไร มีคำคล้องจองกันคือ ๑ ค่ำ ขี่ม้าแก้วสู่โรงธรรม ๒ ค่ำ ฟังธรรมกลางป่าช้า ๓ ค่ำ ล้างมือคอยท่า ๔ ค่ำ ปลายตีนตากแดด เป็นต้น ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม

          โฉลก จึงแฝงอยู่ในชีวิตของคนไทยทุกวันและเวลา สุดแล้วแต่ว่า ใครจะเลือกยึดถือหรือปล่อยวาง.

รัตติกาล ศรีอำไพ