โพชฌงคปริตร

          หนังสือพิมพ์ได้เสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคมที่ผ่านมา คณะสงฆ์ธรรมยุตได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์โพชฌงคปริตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ณ พระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี มีพระสงฆ์ร่วมพิธี ๒๕๘๙ รูป และประชาชนอีกจำนวนนับหมื่นคนเข้าร่วมด้วย

          มีคำถามว่า ทำไมจึงต้องสวดบทโพชฌงคปริตร เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร

          โพชฌงคปริตร หมายถึง ปริตรว่าด้วยธรรมเป็นไปเพื่อตรัสรู้ คำว่า โพชฌงค์ บางครั้งเรียกว่า สัมโพชฌงค์ ปรากฏในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙  มี ๗ ประการ คือ สติ (ความระลึกได้) ธัมมวิจยะ (ความสอดส่องธรรม) วิริยะ (ความเพียร) ปีติ (ความอิ่มเอมใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบใจ)  สมาธิ (ความตั้งใจมั่น) อุบกขา (ความวางเฉย) ส่วนประวัติความเป็นมา มีดังนี้

          ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในเวฬุวันวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระอาพาธเป็นไข้หนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา พระพุทธองค์ได้เสด็จไปทรงเยี่ยม และตรัสโพชฌงค์ ๗ ประการประทาน ทำให้ท่านหายจากอาพาธ

          ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระอาพาธเป็นไข้หนักอยู่บนเขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยม และตรัสโพชฌงค์ ๗ ประการประทานอีกเช่นกัน ทำให้ท่านหายจากอาพาธ

          ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประชวรเป็นไข้หนัก พระมหาจุนทเถระเข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระอาการประชวร พระพุทธองค์โปรดให้พระมหาจุนทเถระสวดโพชฌงค์ถวาย พอสดับโพชฌงค์ที่ท่านพระมหาจุนทเถระถวายแล้ว พระองค์ก็ทรงหายจากพระอาการประชวร

          ด้วยเหตุนี้นั่นเองจึงเป็นเหตุให้เชื่อกันว่า บทโพชฌงคปริตรเป็นพระพุทธมนต์สำหรับสวดสาธยายให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

สำรวย นักการเรียน