โยคะ

          คำว่า โยคะ (Yoga) มาจากรากศัพท์ว่า ยุช. ทั้งในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต แปลตามศัพท์ว่า การประกอบการ การใช้ การรวม; กิเลส; ความเพียร; วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี

          คำว่า “โยคะ” พบครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งใช้หมายถึงการเทียมแอก การเทียมรถหรือการเทียมเกวียน ต่อมาความหมายขยายออก คือใช้หมายถึงการประกอบเข้าหรือการรวมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ากับอะไรก็ได้ ครั้นมาถึงสมัยอุปนิษัท ซึ่งเป็นสมัยที่มีการศึกษาเรื่องอาตมัน (อัตตา) และพรหมัน (ความจริงสูงสุด) อย่างจริงจัง ก็ได้นำคำ “โยคะ” มาใช้หมายถึงการใช้จิตควบคุมอินทรีย์ (ความเป็นใหญ่หรือความสามารถในการรับรู้อารมณ์) แล้วบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้เช่นเดียวกับการใช้เชือกผูกวัวเข้ากับแอก เป็นต้น ต่อมาเวทานตะนำคำนี้มาใช้หมายถึงการรวมชีวาตมันเข้ากับปรมาตมัน หรือการรวมอาตมันเข้ากับพรหมัน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์

          ในทางพระพุทธศาสนา ใช้คำ “โยคะ” หมายถึง

          ๑. กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ดุจเทียมวัวไว้กับแอก มี ๔ อย่าง คือ กามโยคะ (กิเลสคือกาม) ภวโยคะ (กิเลสคือภพ) ทิฏฐิโยคะ (กิเลสคือทิฏฐิ) และอวิชชาโยคะ (กิเลสคืออวิชชา) (ที.ปา. ๑๑/๒๕๙/๒๔๒; องฺ จตุกฺก ๒๑/๑๓; อภิ.วิ. ๓๕/๙๖๓/๕๐๖) เช่นในคำ “โยคกฺเขม?” แปลว่า ภาวะที่ปลอดโปร่งจากโยคะ คือ กิเลส ๔ อย่างดังกล่าว (ขุ.ธ.)

          ๒. ความเพียร การประกอบ เช่นในคำว่า “โยคา เว ชายเต ภูริ” แปลว่า ปัญญาเกิดจากความเพียรหรือการประกอบคือการลงมือกระทำ (ขุ.ธ.) เรียกผู้ปฏิบัติธรรมว่า “โยคาวจร” แปลว่า ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร คือผู้ประกอบความเพียร หมายถึงผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน บางทีเรียกว่า โยคี คือ ผู้ประกอบความเพียร

          ในศาสนาฮินดู ใช้คำว่า “โยคะ” ในรูปแบบและความหมายต่าง ๆ กัน ตามความมุ่งหมายของผู้ปฏิบัติ เช่น

          ๑. หัฐโยคะ คือหลักการปฏิบัติเพื่อให้เกิดพลังหรืออำนาจทางกาย การฝึกโยคะท่าต่าง ๆ ที่เรียกว่าอาสนะ (ได้แก่การฝึกกายบริหารท่าต่าง ๆ) หรือที่เรารู้จักกันว่า ท่าฤษีดัดตนนั้น จัดอยู่ในหัฐโยคะนี้ด้วย

          ๒. คีตาโยคะ คือโยคะที่ใช้เป็นชื่อบททั้ง ๑๘ บท ในคัมภีร์ภควัทคีตา หมายถึงหลักการฝึกจิต

          ๓. ราชโยคะ คือโยคะชั้นสูงของอาจารย์ปตัญชลีผู้รจนาคัมภีร์โยคสูตร หมายถึงวิธีการดับพฤติกรรมของจิต

          ๔. ชญานโยคะ คือโยคะที่ประกอบด้วยองค์ ๑๕ ดังปรากฏในคัมภีร์อปโรกษ-อนุภูติของท่านศังกราจารย์ ผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาอไทวตะ เวทานตะ หมายถึงการเข้าถึงพรหมันด้วยวิธีการทางปัญญา

          ๕. ลยโยคะ คือระบบโยคะของลัทธิตันตระ เป็นวิธีการปลุกพลังอำนาจทางกาย

          ในทางโหราศาสตร์ ใช้คำ “โยคะ” หมายถึง การที่ดาวนพเคราะห์ตั้งแต่ ๒ ดวงขึ้นไปมารวมกันในราศีเดียว ซึ่งกำหนดเป็น “โชค” หรือ “เคราะห์” ตามอิทธิพลของดาวนพเคราะห์นั้น ๆ

          คำ โยคะ ที่ใช้ในทางโหราศาสตร์คำหนึ่ง คือ กาลโยค หมายถึงการกำหนดวัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี ของแต่ละปีเป็น ธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ เช่น ในปีจุลศักราช ๑๓๕๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) วันพุธเป็นธงชัย วันอังคารเป็นอธิบดี (เฉพาะในยามที่ ๘) และเย็น อุบาทว์ (เฉพาะในยามที่ ๒) วันพฤหัสบดีเป็นโลกาวินาศ (ดู ปฏิทินหลวง พ.ศ. ๒๕๓๗)

ผู้เขียน :  นายอดิศักดิ์  ทองบุญ ภาคีสมาชิกประเภทปรัชญา สาขาวิชาอภิปรัชญาและญาณวิทยา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา :  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ มิถุนายน ๒๕๓๗