โรคในละคร (๑)

          บทความเรื่องหนึ่งจากคอลัมน์คลังความรู้ ในเว็บไซต์ legacy.orst.go.th ของราชบัณฑิตยสถาน ที่มีชื่อว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” อธิบายสำนวน ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ไว้ว่า ละครบางเรื่องแม้จะสร้างจากจินตนาการ แต่ก็ให้ข้อคิดที่เป็นคติแก่ผู้ชม เมื่อดูละครแล้วย้อนดูตัว ผู้อ่านเคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า โรคร้ายแรง อาการคุ้มดีคุ้มร้าย หรือความไม่สมประกอบต่าง ๆ ที่ตัวละครในละครบางเรื่องถ่ายทอดออกมานั้นมีอยู่จริงหรือไม่ คำอธิบายเรื่องโรคต่าง ๆ ในพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน น่าจะช่วยให้ความกระจ่างแก่ท่านได้ ดังที่เก็บความมานำเสนอต่อไปนี้

          โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’ s Disease) ตั้งตามชื่อของ อาโลอิส อัลซ์ไฮเมอร์ (Alois Alzheimer) ซึ่งรายงานโรคนี้ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ โรคนี้เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่มีอาการเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลายกระจายทั่วไปในเนื้อสมอง ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการสมองเสื่อม โดยเสียความสามารถในการรู้คิด สติปัญญา ความจำ ความสามารถทางสังคม การตัดสินใจ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ จนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยตนเองได้ โรคจิต (psychosis) หมายถึง โรคทางจิตใจที่แสดงออกด้วยภาวะจิตที่ไม่อยู่ในความเป็นจริง หลงผิด ประสาทหลอนโดยขาดการรู้ตัว หรือไม่รู้ว่าตนเองมีพยาธิสภาพทางจิต โรคอารมณ์ผิดปรกติ (mood disorder) เป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่งที่มีการแสดงออกของอารมณ์ผิดปรกติเป็นอาการเด่น โดยอาจเป็นอารมณ์โศกเศร้า คึกคัก ก้าวร้าว ร่วมกับอาการผิดปรกติในด้านกิจกรรม การกิน การนอน ความรู้สึกภายในร่างกาย อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นและคงอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ทำให้แตกต่างไปจากความผิดหวังหรือสมหวังของคนทั่วไป ในระบบการจำแนกโรคตามคู่มือการวินิจฉัยโรคและสถิติของโรคทางจิตเวช ฉบับที่ ๔ ปรับปรุงใหม่ ค.ศ. ๒๐๐๐ ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน จัดแบ่งกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปรกติเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ โรคอารมณ์ซึมเศร้า โรคอารมณ์ผิดปรกติชนิดมีอารมณ์สองขั้ว และโรคอารมณ์ผิดปรกติอื่น ๆ.

อารยา ถิรมงคลจิต