โรคในละคร (๒)

          โรคร้ายหรืออาการผิดปรกติที่ตัวละครในละครบางเรื่องถ่ายทอดออกมา ไม่ได้เป็นแค่บทบาทใหม่ของผู้แสดงหรือเป็นเพียงฉากหนึ่งในละครที่สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ชมทั้งหลายเท่านั้น หากแต่เรื่องดังกล่าวยังมีอยู่จริงในชีวิตของคนเราด้วย ความเดิมตอนที่แล้วจุดประกายความคิดเรื่องโรคในละครมาจากบทความเรื่อง “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” ในคอลัมน์คลังความรู้ จากเว็บไซต์ legacy.orst.go.th ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งอธิบายสำนวน ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ไว้ว่า ละครบางเรื่องแม้จะสร้างจากจินตนาการ แต่ก็ให้ข้อคิดที่เป็นคติแก่ผู้ชม วันนี้จึงขอต่อยอดเรื่องราวดังกล่าวด้วยโรคในละครอีกโรคหนึ่งที่คุ้นตาคอละครอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือ โรคฮิสทีเรีย (hysteria)

          พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามเกี่ยวกับ โรคฮิสทีเรีย” ไว้ถึง ๓ ความหมาย ความหมายหนึ่ง โรคฮิสทีเรียเป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่งซึ่งแสดงอาการเป็นความผิดปรกติของร่างกายหลายระบบ โดยจะเริ่มมีอาการก่อนอายุ ๓๐ ปี และจะเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังจนทำให้เหมือนกับป่วยตลอดชีวิต เดิมเรียกชื่อว่า โรคบรีเก (Briguet’s) ตามชื่อของแพทย์ชาวฝรั่งเศส คือ ปอล บรีเก (Paul Briguet) อีกความหมายหนึ่ง โรคฮิสทีเรียเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปรกติชนิดหนึ่ง มีลักษณะนิสัยคล้ายเด็ก พึ่งพิงผู้อื่น ชอบจัดการ ชอบแสดงออก มีท่าทางและการแต่งกายยั่วยวนเหมือนเล่นละคร อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และระดับการแสดงอารมณ์จะมีมากกว่าปรกติ โรคฮิสทีเรียในความหมายนี้ปัจจุบันเรียกว่า บุคลิกภาพแบบฮิสทริโอนิก (histrionic personality) และโรคฮิสทีเรียในความหมายสุดท้ายหมายถึง โรคประสาทชนิดหนึ่ง โดยจะมีอาการแสดงออกเป็นความผิดปรกติของร่างกายในระบบต่าง ๆ ทั้งระบบการเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมด้วยจิตใจ ระบบการรับความรู้สึก และระบบรับสัมผัสเฉพาะความผิดปรกติ โรคฮิสทีเรียในความหมายนี้ยังอาจทำให้มีภาวะการรู้ตัวที่เปลี่ยนไปด้วย.

อารยา  ถิรมงคลจิต