โหมโรง

          หลายท่านคงยังจำภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของนักดนตรีไทยซึ่งเป็นครูดนตรีที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งคือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) จึงจะขอกล่าวถึงความหมายของชื่อภาพยนตร์ในทางดนตรีให้ทราบ  โหมโรงเป็นชื่อเพลงไทยประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นเพลงเริ่มต้นการบรรเลงหรือการแสดง โดยมุ่งหมายเพื่อบอกให้ทราบว่างานหรือพิธีนั้น ๆ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพลงโหมโรงโดยมากจะใช้กลองทัดซึ่งมีเสียงดังได้ยินไปไกลตีประกอบ นอกจากนี้การบรรเลงเพลงโหมโรงยังเป็นการอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาประชุมสโมสรในงาน เพื่อจะได้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน 

          เพลงโหมโรงแบ่งได้ตามลักษณะของงานหรือมหรสพที่แสดงและลักษณะของการบรรเลง ดังนี้
๑. โหมโรงเย็นและโหมโรงเช้า โหมโรงเย็นใช้สำหรับงานที่มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น เพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงชุดจำนวน ๑๖ เพลง แต่ละเพลงจะมีความหมายต่างกันไป ส่วนโหมโรงเช้าใช้สำหรับงานที่มีการทำบุญเลี้ยงพระซึ่งโดยปรกติจะมีลักษณะเป็นการสวดมนต์เย็น-ฉันเช้า มีเพลงรวมอยู่ ๕ เพลง
๒. โหมโรงเทศน์ใช้บรรเลงเพื่อเป็นการประกาศให้ทราบว่าที่บ้านนี้หรือวัดนี้จะมีพระธรรมเทศนา
๓. โหมโรงการแสดงมหรสพและโหมโรงกลางวันใช้บรรเลงเป็นการประกาศให้ทราบว่าที่นี่จะมีการแสดงมหรสพ
๔. โหมโรงเสภาประกอบด้วยเพลงรัวประลองเสภาและเพลงโหมโรง เมื่อจะจบเพลงต้องลงท้ายแบบเพลงวาเท่านั้น 
๕. โหมโรงมโหรี มโหรีเดิมเป็นของผู้หญิงเล่น ผู้ชายเพิ่งจะเล่นเมื่อไม่นานมานี้
๖.  โหมโรงหุ่นกระบอกใช้ในการแสดงหุ่นกระบอก
๗. โหมโรงหนังใหญ่ใช้บรรเลงก่อนจะดำเนินเรื่องหนังใหญ่

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์