โหราศาสตร์-ดาราศาสตร์

          “ชาวราศีเมษเป็นคนจริงใจ ซื่อสัตย์ มีความเป็นตัวของตัวเอง ค่อนข้างขี้เหงา”  คำทำนายลักษณะนิสัยดังกล่าว ตลอดจนการเรียกชื่อราศีตามกลุ่มดาว เช่น ราศีเมษ ราศีกรกฎ นั้น เป็นเรื่องของโหราศาสตร์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม โหราศาสตร์ ว่า วิชาว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก 

          โหราศาสตร์ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Astrology ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ให้นิยามว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำนายอนาคต ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลก หรือโชคชะตาของมนุษย์ โดยอาศัยตำแหน่งของดวงดาว ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ  ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้ง ส่วนคำ Astronomy นั้น  บัญญัติว่า ดาราศาสตร์  ให้นิยามว่า การศึกษาเอกภพและองค์ประกอบของเอกภพที่อยู่เลยขอบเขตของบรรยากาศของโลกออกไป และตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา ดาราศาสตร์มีความหมายรวมถึงการศึกษาการเคลื่อนที่และตำแหน่งของเทห์ฟ้าด้วย

          ปัจจุบันการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ก็คือ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (astrophysics) ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติ องค์ประกอบ และวิวัฒนาการของวัตถุท้องฟ้าและห้วงอวกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวพันกับการสร้างและใช้พลังงานในระบบ เช่น ระบบดาวฤกษ์ ดาราจักร วิวัฒนาการของเอกภพ ดาราศาสตร์ฟิสิกส์พัฒนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยการประยุกต์ใช้เทคนิคทางสเปกโทรสโกปีในการศึกษาแสงจากเทห์ฟ้า ปัจจุบันวิชานี้มีความสัมพันธ์กับฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์พลาสมา อุณหพลศาสตร์ ฟิสิกส์สารกึ่งตัวนำ และทฤษฎีสัมพัทธภาพ โดยทั่วไปถือว่าจักรวาลวิทยา ดาราศาสตร์วิทยุ ดาราศาสตร์รังสีเอกซ์ ดาราศาสตร์รังสีแกมมา ดาราศาสตร์อินฟราเรดและดาราศาสตร์อัลตราไวโอเลตเป็นส่วนหนึ่งของวิชานี้ 

          ผู้เขียนเคยเรียนถามอาจารย์นิพนธ์ ทรายเพชร ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ ว่า หากจะเป็นนักดาราศาสตร์ต้องเก่งในวิชาอะไรบ้าง ท่านตอบว่า คณิตศาสตร์และฟิสิกส์  แต่ถ้าจะเป็นโหร หรือผู้ชํานาญในวิชาโหราศาสตร์  ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าต้องเก่งในวิชาอะไรค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ