ใช้คำไหนถูก

ในภาษาไทย คำหลายคู่มีรูปพยัญชนะหรือเสียงสระคล้ายกัน และบางทีก็มีความหมายคล้ายกันด้วย จึงทำให้บางครั้งเกิดปัญหาในการเลือกใช้คำให้ถูกต้องตรงกับความหมายที่จะต้องการสื่อ  ตัวอย่างเช่น ตบมือ กับ ปรบมือ  เทือก กับ เถือก  กัน กับ โกน

ตบมือ กับ ปรบมือ  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดให้คำ ๒ คำนี้ใช้แทนกันได้ในความหมายของการแสดงความยินดี   ตบมือ หมายถึง เอาฝ่ามือตีกันให้เกิดเสียงเพื่อแสดงความยินดี  ส่วน ปรบมือ อธิบายไว้ในคำว่า ปรบ ซึ่งหมายถึง เอาฝ่ามือตบกันหลาย ๆ ครั้งให้เกิดเสียงเพื่อแสดงความยินดีเป็นต้น ในคำว่า ปรบมือ  อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ตบมือ กับ ปรบมือ จะใช้แทนกันได้ แต่ในบางความหมาย ตบมือ กับ ปรบมือ ก็ใช้แทนกันไม่ได้  เช่น สำนวนที่ หมายความว่า ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล นั้น ต้องใช้ว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ไม่ใช่ ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง และอีกสำนวนหนึ่งคือ สู้รบตบมือ ไม่ใช่ สู้รบปรบมือ  สำนวนนี้หมายความว่า ต่อสู้ ทะเลาะวิวาท เช่น เราจะเอากำลังที่ไหนไปสู้รบตบมือกับคนที่มีอำนาจอย่างเขา  หรือ เขาไม่ยอมสู้รบตบมือด้วย

เทือก กับ เถือก  มีเสียงสระเดียวกัน ต่างกันก็แต่พยัญชนะต้น ท กับ ถ   คำ ๒ คำนี้ออกเสียงคล้ายกันมาก แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย  เทือก เป็นคำนาม  หมายถึง ที่ดินที่ไถและคราดแล้ว ทำให้เป็นโคลนเป็นตมเพื่อตกกล้า เช่น ทำเทือกตกกล้า  ใช้ว่า ขี้เทือก ก็ได้   นอกจากนี้ เทือก ยังมีความหมายโดยอ้อมว่า ที่ซึ่งเปรอะเลอะเทอะเพราะย่ำกันไปมา เช่น ย่ำเป็นเทือก   เทือก ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ วัสดุที่มีความเหนียว ใช้สำหรับติดสิ่งของต่าง ๆ เช่น เทือกรัก เทือกปูน  ส่วน เถือก เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า ดาษไป ทั่วไป  เถือก ใช้กับสีแดงในคำว่า แดงเถือก  นอกจากนั้น เถือก ยังหมายความว่า จ้า โพลง พราว ก็ได้ เช่น เถือกถ่อง   คำว่า แดงเถือก มีหลายคนใช้ว่า แดงเทือก ซึ่งไม่ถูกต้อง

กัน กับ โกน ซึ่งเป็นคำกริยา    กัน คือ โกนให้เป็นแนวเสมอกัน เช่น กันคิ้ว กันหนวด  ส่วนโกน หมายความว่า ขูดผมหรือขนด้วยคมมีด  กัน กับ โกน มีความหมายต่างกัน  กันคิ้ว ยังมีคิ้วเหลืออยู่ แต่โกนคิ้ว ไม่เหลือคิ้วอยู่เลย

                                                                                                                                แสงจันทร์  แสนสุภา