ไกลกังวล

          ผู้เขียนได้ยินชื่อ วังไกลกังวล ก็รู้สึกชอบที่ชื่อเรียบง่ายอีกทั้งมีความหมายดี จึงได้สรุปใจความที่น่าสนใจเกี่ยวกับวังนี้ จากสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาเล่าสู่กันฟังค่ะ  วังไกลกังวลตั้งอยู่ที่ตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เป็นพระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่ประทับในฤดูร้อนและเป็นที่แปรพระราชฐาน ได้มีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.  ๒๔๖๙ ถึงอุปนายกราชบัณฑิตยสภา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ทรงเป็นสถาปนิกและอำนวยการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระตำหนักชื่นสุข เป็นพระตำหนักใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐ (ต่อมาพระราชทานชื่อใหม่ว่า พระตำหนักเปี่ยมสุข)  และพระราชทานนามว่า วังไกลกังวล มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖  ชื่อพระตำหนักต่าง ๆ ที่พระราชทานต่อมา มีนามคล้องจองกัน และล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงความสบายพระราชหฤทัยทั้งสิ้น คือ เปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์ และศาลาเริง 

          คำว่า ไกลกังวล สันนิษฐานว่าน่าจะได้ต้นเค้ามาจากชื่อพระราชวังซองซูซี (Sans Souci  – ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ไร้กังวล) พระราชวังฤดูร้อนที่พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชทรงสร้างที่เมืองพอทสดัม ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

          ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล มีการปรับปรุงขยายพื้นที่และก่อสร้างเพิ่มเติม เช่น สร้างศาลาเย็นใจ ละไมจิตร จุลสาคร อมรวาริน รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนไกลกังวลขึ้นป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ 

รัตติกาล  ศรีอำไพ