ไข้หวัดใหญ่

          มนุษย์รู้จักไข้หวัดใหญ่มานานกว่า ๒๐๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๑๓๕ แพทย์ Hippocrates เคยบันทึกว่าได้รักษาคนที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่  และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นระยะ ๆ เช่น ใน พ.ศ. ๒๑๒๓ ได้มีการระบาดใหญ่ในยุโรป และในปี ๒๔๖๑ ก็มีการระบาดใหญ่อีกครั้งในยุโรป โดยเริ่มที่สเปนทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายสิบล้านคน และแม้กระทั่งถึงทุกวันนี้แพทย์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุใดครั้งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิต จึงมีอายุในช่วง ๒๐-๔๐ ปี ทั้ง ๆ ที่บุคคลในวัยนี้ “แข็งแรง” ในความพยายามที่จะหาคำตอบ  แพทย์ได้เก็บเนื้อเยื่อจากปอดของผู้ที่เสียชีวิตใน Alaska และ Norway มาวิเคราะห์ RNA และก็พบเพียงว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้มีกำเนิดจากสัตว์ปีก และมีโครงสร้างคล้ายเชื้อหวัดหมู แต่ก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าไวรัสเหล่านั้นกระโดดข้ามสู่คนได้อย่างไร

          เมื่อปี ๒๕๔๐ โลกก็เกือบมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกครั้งหนึ่งที่ฮ่องกง แต่ในครั้งนั้นการควบคุมสกัดกั้นการระบาดมีประสิทธิภาพมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ฆ่าไก่และเป็ดกว่า ๑ ล้านตัวทันที จึงทำให้มีคนเสียชีวิตเพียง ๖ คน การตรวจเชื้อไวรัสหวัดฮ่องกง พบว่ามันเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยเผชิญมาก่อน และเมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ทุกศตวรรษ นั่นก็หมายความว่า ปี ๒๐๐๔ นี้ก็ถึงเวลาที่มันจะเปลี่ยนพันธุ์อีกแล้ว

          ตามปรกติเมื่อถึงหน้าหนาว ใคร ๆ ก็คิดว่าการเป็นหวัดเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น เวลามีอาการไข้ เช่น เจ็บคอ เหนื่อยอ่อนแรง เจ็บกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หรือคัดจมูก เราก็มักไปหาหมอเพื่อรับการฉีดยา แต่ถ้าหวัดที่เป็น เป็นชนิดร้ายแรง คนไข้ก็อาจมีโรคแทรกซ้อนคือ ป่วยเป็นโรคปอดบวม หรือหัวใจล้มเหลว ซึ่งจะทำให้ตายได้ และคนที่มีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่มากคือ ทารก คนชรา หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก ๆ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน

          การติดตามประวัติการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมานี้ แสดงว่าในปี ๒๕๐๐ มีหวัดเอเชียระบาด ปี ๒๕๑๑ มีหวัดฮ่องกงระบาด ปี ๒๕๒๐ มีหวัดรัสเซียระบาด การระบาดที่ไม่มีจังหวะ และไม่เป็นที่เป็นทางนี้แสดงให้เห็นว่า แพทย์ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่า ไข้หวัดใหญ่จะระบาดที่ใด และเมื่อใด ทั้ง ๆ ที่แพทย์ก็รู้โครงสร้างของไวรัสดี และรู้ว่าไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์อย่างไร และรู้อีกว่ามันทำลายระบบภูมิคุ้มกันคนอย่างไร แต่ความจริงก็มีว่า ถึงแม้จะรู้ ๆ แต่เราก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโรคหวัดใหญ่ ทั้งนี้เพราะการระบาดของโรคขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน เช่น ด้านการแพทย์ การเมือง สภาพสังคม อันได้แก่ ประเพณี และความเชื่อถือต่าง ๆ รวมทั้งเงินงบประมาณในการป้องกันและรักษา

          ตามปรกติไข้หวัดใหญ่จะติดต่อจากคนสู่คนได้โดยการไอหรือจาม แต่ตัวไวรัสของไข้หวัดใหญ่มาจากนกน้ำที่เป็นสัตว์ปีก เช่น นกเป็ดน้ำ เป็ด ห่าน และถึงแม้สัตว์ปีกเหล่านี้จะมียีน (gene) ของโรคไข้หวัดใหญ่ในกระเพาะลำไส้ มันก็ไม่ป่วย จึงเป็นพาหะที่ดีของโรคชนิดนี้ ดังนั้น เวลาบินอพยพไกล ๆ มันก็สามารถนำเชื้อโรคไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ได้ทั่วโลก แต่ไวรัสจากนกตามธรรมดาจะไม่แพร่สู่คน ดังนั้น มันจึงอาศัยตัวกลาง อันได้แก่ ไก่หรือหมูที่ไปดื่มน้ำที่มีมูลของนกน้ำปน ซึ่งจะมีผลทำให้ไก่ หมูป่วย และถ้าคนบริโภคไก่ที่ป่วยด้วยโรคหวัดใหญ่ ไวรัสจากนกก็จะเข้าสู่คนในที่สุด

          เพราะเหตุว่าไก่และเป็ดเป็นสัตว์ที่ไม่แข็งแรง ดังนั้น มันจะล้มตายง่าย แต่สำหรับหมูซึ่งเป็นสัตว์ที่แข็งแรงกว่า หมูจะเป็นพาหะของโรคหวัดใหญ่ที่ดี เพราะมันอาจหลอมรวมไวรัสของหมูเอง ไวรัสนก และไวรัสคน จนทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และถ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้แพร่ถึงคนโดยการกินเนื้อหมูที่เป็นโรค คนคนนั้นก็จะป่วยเป็นโรคหวัดใหญ่ทันที และเมื่อคนคนนั้นไอหรือจาม ไวรัสก็จะแพร่กระจายต่อไป

          ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นแหล่งให้กำเนิดเชื้อโรคหวัดใหญ่ที่สำคัญ เพราะชาวจีนชอบเลี้ยงหมู เป็ด และไก่ในเล้าที่อยู่ใกล้ ๆ กัน กรณีหวัดฮ่องกงระบาดนั้น ก็มีสาเหตุจากการที่กสิกรเลี้ยงไก่ เป็ด และหมูรวม ๆ กัน และคนที่เสียชีวิต ๑๘ คน ก็เพราะได้สัมผัสไก่ หาได้เสียชีวิตจากการจามใส่กันและกันไม่ แต่ประเด็นที่น่าสังเกตสำหรับกรณีหวัดฮ่องกงนี้ ถือเป็นกรณีแรกที่โรคหวัดใหญ่ระบาดจากไก่สู่คน

          แพทย์จัดไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae ที่มี ๔ ชนิด คือ A B C และ thogotovirus ไวรัสชนิด C ไม่มีพิษมีภัยใด ๆ ชนิด B นั้น มีพบในแมวน้ำและเคยระบาดในฮอลแลนด์ ส่วนชนิด A เป็นชนิดที่อันตรายที่สุด การศึกษาโครงสร้างของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ทำให้เรารู้ว่าที่ผิวของไวรัสมี glycoprotein ๒ ชนิด คือ hemagglutinin (HA) และ neurq minidase (NA) ซึ่งโปรตีนทั้งสองชนิดนี้จะปรากฏเป็นตุ่มยื่นออกมาจากผิวของไวรัส หน้าที่หลักของ HA คือเข้าจับกับเซลล์ receptor ในเซลล์ของคน และเมื่อยึดติดแล้วเชื้อไวรัสก็จะบุกรุกเซลล์ โดย RNA ของไวรัสจะเข้าสู่นิวเคลียสเพื่อสร้างอนุภาคไวรัสตัวใหม่ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ NA ที่จะนำไวรัสที่ถูกสร้างใหม่ออกจากเซลล์คนเดินทางสู่เซลล์อื่น ๆ ต่อไป

          นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พบว่า โปรตีน HA มี ๑๕ ชนิดย่อยและโปรตีน NA มี ๙ ชนิดย่อย ดังนั้น ในการตั้งชื่อไวรัส ถ้ามีสายพันธุ์ย่อยของ HA ชนิดที่ ๑ ปรากฏคู่กับสายพันธุ์ย่อยของ NA ชนิดที่ ๑ เขาจะเรียกไวรัสนั้นว่า H1N1 และไวรัสที่กำลังระบาดขณะนี้เป็นชนิด H5N1

          ความร้ายกาจของไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ที่มันสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของโปรตีน HA และ NA ที่มันมี จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจำมันไม่ได้ ดังนั้น จึงต่อสู้มันไม่ได้ ซึ่งมีผลทำให้คนคนนั้นล้มป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าไวรัสไม่กลายพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะจำมันได้ และจะสร้าง antibody เพื่อกำราบมัน และถ้า antibody กำจัดมันได้ คนคนนั้นก็ไม่เป็นไข้อะไร

          ในปี ๒๕๔๐ คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตรวจพบว่า ไวรัสไข้หวัดนกสามารถระบาดถึงคนได้ และเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นชนิด H5N1 ที่ได้ทำให้คนป่วยมีอาการหนาวสั่น อาเจียน และปวดศีรษะ จนเสียชีวิตไป ๒ คน และเมื่อถึงปี ๒๕๔๔ ได้มีหวัดฮ่องกงระบาดอีก นั่นแสดงว่า ถึงแม้หวัดปี ๒๕๔๐ จะหมดสิ้นแล้ว แต่เชื้อไวรัสก็ยังคงฟักตัวอยู่ในไก่ นก เป็ด ในประเทศจีนตอนใต้

          ดังได้กล่าวแล้วว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีความสามารถสูงในการกลายพันธุ์ ดังนั้น การตรวจหาและการรักษาจึงทำได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง ขณะนี้องค์การอนามัยโลกมีห้องปฏิบัติการทั่วโลกกว่า ๑๐๐ แห่ง ที่ทำหน้าที่เก็บไวรัสตัวอย่างมาเพื่อวิเคราะห์ว่ามี HA ชนิดอะไรบ้าง และ NA ชนิดอะไรบ้างเพื่อทำนายแนวโน้มของการระบาดในอนาคต และเพื่อให้บริษัทยาที่ผลิตวัคซีนสามารถสร้างวัคซีนได้ทันและได้มากพอ และเพราะวัคซีนปีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับโรคปีหน้า ดังนั้น การผลิตวัคซีนขึ้นมาก ๆ ล่วงหน้า จึงอาจไม่มีประโยชน์ใด ๆ

          และตามปรกติในการผลิตวัคซีนนั้น เขาจะนำไวรัสมาปลูกถ่ายในไข่ไก่ก่อน แล้วนำไปทำไวรัสหมดอันตราย จากนั้นก็นำไปทำให้บริสุทธิ์เพื่อฉีดเพิ่มภูมิคุ้มกันในคนต่อ แต่เวลาโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด ซึ่งคนจำนวนมากจะล้มป่วย ประเทศจะต้องการวัคซีนมากและเร็ว เพราะกระบวนการเตรียมต้องใช้เวลานาน ๗-๘ เดือน ดังนั้น วัคซีนจึงมีไม่เคยพอ การวิจัย ณ วันนี้จึงเป็นการหาวิธีลดเวลาเตรียมวัคซีนให้ไม่ใช้เวลานานนัก

          สำหรับการรักษาในอดีต แพทย์จะใช้ยา amantadine และ rimantadine แต่ ณ วันนี้แพทย์นิยมใช้ยา zanamivir และ oseltamivir ซึ่งเป็นตัวยาที่ยับยั้งไม่ให้ NA ทำงาน ซึ่งจะมีผลให้เชื้อไวรัสหลุดจากเซลล์คนไม่ได้ และเมื่อมันหลุดออกมาไม่ได้ มันก็จะตาย แต่เพื่อจะให้ได้ผลดีที่สุด คนไข้ต้องได้รับการฉีดยาชนิดนี้ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ

          ส่วนการป้องกันนั้น วิธีที่ดีคือ มีระบบตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าระบบตรวจสอบดีและครอบคลุม ระบบสาธารณสุขดี แพทย์พร้อม และวัคซีนพร้อม การระบาดของไข้หวัดใหญ่ก็จะน้อย และความเสียหายก็จะไม่มาก และถึงแม้เราจะต้องฆ่าไก่ทั้งประเทศ เราก็ต้องทำ เพื่อคน ๖๔ ล้านคนจะได้ไม่ล้มตาย แต่รัฐบาลก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าของฟาร์มไก่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ด้วย.

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์