ไม้ม้วน ในภาษาไทย

          ในภาษาไทยเรามีไม้ม้วน ( ใ ) ใช้แค่ ๒๐ คำ แต่ปัจจุบันพบว่ามีการใช้ไม้ม้วนผิดในหลายคำ ผู้เขียนขอคัดบทกลอนท่องจำที่เป็นกาพย์ยานี สอนการใช้ไม้ม้วน ที่รู้จักกันดีมานำเสนอ

                    ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่    ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ        มิหลงใหลใครขอดู
จักใคร่ลงเรือใบ      ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้           มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว          หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง    ยี่สิบม้วนจำจงดี

          ไม้ม้วน ๒๐ คำ นับได้ดังนี้ “ใกล้ ใคร ใคร่ ใจ ใช่ ใช้ ใด ใต้ ใน ใบ ใบ้ ใฝ่ สะใภ้ ใย ใส ใส่ ให้ ใหญ่ ใหม่ ใหล”  หลายคำมีใช้เฉพาะไม้ม้วน เช่น สะใภ้ ใหญ่ ใกล้ ใคร ใคร่  บางคำไม่ใช้เดี่ยว ต้องใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น หลงใหล หลับใหล แต่ไม่ใช่ เหลวไหล ที่แปลว่า “ไม่เป็นสาระ เช่น พูดแต่เรื่องเหลวไหล เลอะเทอะ เช่น เป็นคนเหลวไหล เชื่อถือไม่ได้ เช่น พูดจาเหลวไหล” ขณะที่ ไหล คำเดี่ยวใช้ไม้มลาย ( ไ ) แปลว่า เคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวเช่นนํ้า เลื่อนไป  บางคำใช้เดี่ยว ๆ เช่น ให้ แปลว่า “มอบ สละ อนุญาต”  ต่างจากคำ ร้องไห้ ร้องห่มร้องไห้ ที่ใช้ไม้มลาย

          ใย เป็นอีกคำที่ใช้ประสมกับคำอื่นแล้วมักใช้ผิด คำนามแปลว่าสิ่งที่เป็นเส้นเล็ก ๆ บาง ๆ เช่น ใยบัว ใยแมงมุม เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า นวลบาง บาง ๆ ละเอียดอ่อน เช่น นวลใย ยองใย แต่ ลำไย ใช้ไม้มลาย อีกตัวอย่าง ไยเธอมาตัดเยื่อใย ไย คำแรกแปลว่า ไฉน อะไร ทําไม ส่วนใยคำหลัง คือความผูกพันที่ยังตัดไม่ขาด ค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ