ไม้ม้วน…ไม้มลาย

          ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบ
          ดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
                                            เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

          หลายคนคงจะจำบทร้อยกรองนี้ได้ดี บางคนท่องเสร็จแล้วก็อดที่จะลองนับดูไม่ได้ว่ามี ๒๐ คำจริงหรือ บางคนต้องท่องจนขึ้นใจ เพราะเวลาสอบจะได้นึกออกว่าคำใดสะกดด้วยไม้ม้วน คำใดสะกดด้วยไม้มลาย   จะสังเกตเห็นว่า คำที่ปรากฏในบทกลอนเหล่านี้ส่วนใหญ่สะกดด้วยไม้ม้วนอย่างเดียวจริง ๆ   แต่บางคำเมื่อสะกดด้วยไม้มลายจะมีความหมายต่างไป เช่น 

          ไห้  เป็นคำที่พบในวรรณกรรม มีความหมายเช่นเดียวกับ ร้องไห้

          ไจ  หมายถึงด้ายหรือไหมที่มัดผูกไว้ไม่ให้ยุ่ง  ใช้เป็นลักษณนาม เช่น ด้าย ๒ ไจ

          ไหล  คำนี้ มีหลายความหมาย อย่างเช่น   ปลาไหล ซึ่งเป็นปลาที่มีรูปร่างกลมยาวคล้ายงู
                  ส่วนของพืชบางชนิดซึ่งเลื้อยชอนไปแตกเป็นหน่อขึ้น ที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น ไหลบัว
                  ชื่อโลหะชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า เหล็กไหล   หากเป็นกิริยาเคลื่อนที่ไปก็เช่น น้ำไหล 
                  ผู้คนหลั่งไหลกันไป

          ไคร่  ในคำ ตะไคร่ หรือ ตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นพืชสีเขียวเกิดในน้ำหรือที่ชุ่มชื้น

          ไส ถ้าเป็นกิริยาผลักไป ดันไป ส่งไป เป็นต้น ต้องใช้ ไส นี้ เช่น ไสไม้ น้ำแข็งไส

          ได คำนี้คงไม่ค่อยได้พบ เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร  แปลว่า มือ

          ไน มี ๒ ความหมาย คือ ชื่อปลาน้ำจืด และ เครื่องปั่นด้ายด้วยมือ

          ไย แปลว่า ทำไม เช่น จะช้าอยู่ไย   ไม่ไยดี หมายถึง ไม่พอใจ ไม่ยินดี   ส่วนคำ ไยไพ เป็นกิริยาเยาะเย้ย

หากท่านผู้ใดสนใจใคร่หาคำที่สะกดด้วย หรือ เพิ่มเติม ก็หาดูได้จากในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นะคะ

        ทิพาภรณ์  ธารีเกษ