ไวพจน์ (ไม่เพชรสุพรรณ)

          เพราะ ไวพจน์ ในที่นี้ไม่ใช่ชื่อนักร้องนักแหล่เพลงพื้นบ้านรุ่นใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่หมายถึง “คําที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น มนุษย์กับคน บ้านกับเรือน รอกับคอย ป่ากับดง คําพ้องความ ก็ว่า” มาจากภาษาบาลีว่า เววจน 

          ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ไวพจน์ หมายถึง คําที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใสกับไส โจทก์กับโจทย์ พานกับพาล ซึ่งปัจจุบันคือ คําพ้องเสียง นั่นเอง ส่วน คำพ้องรูป พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า “คำที่เขียนเหมือนกันแต่มีความหมายต่างกัน เช่น ขัน (น้ำ) กับ (ไก่) ขัน; คู (ร่องน้ำ) กับ (นกเขา) คู” ยังมีคำพ้องรูปหลายคำที่เขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน เช่น เพลาที่อ่านว่า เพ-ลา แปลว่า กาล คราว กับ คำเพลา [เพฺลา] พจนานุกรมฯ นิยามว่า ๑. แกนสำหรับสอดในดุมรถหรือดุมเกวียน; ไม้สำหรับขึงใบเรือ ๒. ชื่อกระดาษสาชนิดบาง โบราณใช้ร่างหนังสือด้วยดินสอดำหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้ปิดหุ่นหัวโขนและหุ่นอื่น ๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ๓. เบาลง เบาพอประมาณ เช่น เพลาไม้เพลามือ เพลา ๆ หน่อย  ๔. ตัก ช่วงขาตั้งแต่เข่าถึงโคนขา ราชาศัพท์ว่า พระเพลา มาจากภาษาเขมรว่า เภฺลา

          นักประพันธ์หรือกวีสามารถเลือกใช้คำไวพจน์หรือคำพ้องความนี้ ในการบรรยายความให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสที่ดีที่สุด การแปลความจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศของคนแต่ละคน อาจเลือกใช้คำเพื่อเปลี่ยนความหมายในภาษาไทยได้บ้าง แต่คงไม่มีคนแปลคำว่า love เป็นแค่ “ชอบ” หรอกค่ะ เพราะ love อย่างไรก็แปลว่า รัก ก็ รักเธอประเทศไทย ใช่ไหมล่ะคะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ