ไว้ทุกข์

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ นิยามคำ ไว้ทุกข์ ว่าเป็นกริยา หมายถึง แต่งกายหรือแสดงเครื่องหมายตามประเพณีนิยมว่าตนมีทุกข์เพราะบุคคลสำคัญในครอบครัวเป็นต้นตายไป เช่น ไว้ทุกข์ให้พ่อ การไว้ทุกข์โดยปรกติจะกระทำเมื่อผู้ที่สิ้นชีวิตนั้นเป็นญาติผู้ใหญ่ บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ตนเคารพรักใคร่ ผู้ที่มาร่วมพิธีในงานศพก็จะไว้ทุกข์ด้วย มีคำถามว่าการกำหนดวันไว้ทุกข์และการแต่งกายของผู้ที่ไว้ทุกข์มีหลักปฏิบัติที่เป็นแบบแผนหรือไม่ คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ในหนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า การไว้ทุกข์ไม่มีกำหนดวันที่แน่นอน เสฐียรโกเศศ (นามปากกาของพระยาอนุมานราชธน) เขียนไว้ในเรื่อง ประเพณีเนื่องในการตาย ว่า กำหนดไว้ทุกข์นั้น ขึ้นอยู่กับความผูกพันกับผู้ตาย อาจจะไว้ทุกข์เพียง ๓ วัน ๗ วัน หรือถ้าเป็นบิดามารดาก็อาจจะไว้ได้ถึง ๓ ปี อย่างในกรณีการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รัฐบาลได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับแรก ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์มีกำหนด ๑๕ วัน ต่อมา รัฐบาลได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีอีกฉบับหนึ่งให้ขยายเวลาการไว้ทุกข์จากเดิม ๑๕ วัน เป็น ๓๐ วัน

          ในเรื่องการแต่งกายของผู้ที่ไว้ทุกข์นั้น ในอดีต มีกล่าวถึงเรื่องนี้ใน ประเพณีเนื่องในการตาย ของ เสฐียรโกเศศ ว่า เดิมการไว้ทุกข์ของคนไทยมีทั้งนุ่งดำ นุ่งขาว นุ่งน้ำเงิน และนุ่งสีนกพิราบ ลางทีแถมโกนหัวด้วย ถ้าผู้ไว้ทุกข์เป็นผู้ใหญ่กว่าตาย หรือมีอายุและยศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้ตาย ก็ใช้แต่งดำล้วน ถ้าผู้ไว้ทุกข์เป็นญาติชั้นผู้น้อยหรือเป็นบริวารของผู้ตาย ก็ใช้แต่งขาวล้วน ส่วนผู้ที่ไปร่วมงานจะไม่ใส่ดำล้วน อาจมีเพียงติดปลอกดำพับแขนเสื้อเท่านั้น ปัจจุบัน การไว้ทุกข์นิยมแต่งสีดำล้วน ไม่ว่าผู้ตายจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า เมื่อแต่งสูทหรือแต่งชุดข้าราชการปกติขาวหรือชุดเต็มยศ ให้ติดปลอกแขนสีดำที่แขนเสื้อข้างซ้าย

แสงจันทร์ แสนสุภา