ไอซ์เอจ

                  เมื่อกล่าวถึงคำว่า ไอซ์เอจ หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันเรื่องดังซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับยุคน้ำแข็ง ไอซ์เอจ เป็นคำที่ทับศัพท์มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า ice age

                  ในทางธรณีวิทยา ice age หมายถึง ระยะเวลาหรือช่วงเวลาทางธรณีวิทยา คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติศัพท์ ice age ว่า ช่วงอายุน้ำแข็ง ไม่ได้บัญญัติว่า “ยุคน้ำแข็ง เนื่องจากคำว่ายุค บัญญัติใช้กับศัพท์คำว่า period ซึ่งทางธรณีวิทยา ยุคกับช่วงอายุมีความหมายต่างกัน ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๖ เพื่อให้เข้าใจความหมายของ ice age และคำที่เกี่ยวโยงกันดียิ่งขึ้น ผู้เขียนขอนำคำอธิบายที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาจัดทำไว้มาเสนอพอสังเขปดังนี้

                  ice age ช่วงอายุน้ำแข็ง หมายถึง ระยะเวลาทางธรณีวิทยาซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุมบริเวณส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นบริเวณกว้าง เรียกกันทั่วไปว่า ยุคน้ำแข็ง นักธรณีวิทยาเชื่อกันว่า ได้เกิดน้ำแข็งขึ้นปกคลุมโลกหลายครั้งแล้ว ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มสมัยไพลสโตซีนของยุคควอเทอร์นารี เมื่อประมาณ ๒.๕๖ ล้านปี และสิ้นสุดลงเมื่อประมาณ ๐.๐๑ ล้านปีที่ผ่านมา

                  little ice age ช่วงอายุน้ำแข็งย่อย หมายถึง ระยะเวลาหนึ่งในช่วงคั่นธารน้ำแข็ง (interglacial) ซึ่งภูมิอากาศของโลกอบอุ่นขึ้นในสมัยโฮโลซีนตอนกลางเมื่อ ๓๐๐๐ ปีก่อนปัจจุบัน ปรากฏการณ์นี้พบเป็นบางพื้นที่ ส่วนมากอยู่ในบริเวณขั้วโลก คำนี้จึงใช้อธิบายปรากฏการณ์อากาศเย็นในบริเวณขั้วโลกเหนือซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๑ องศาเซลเซียสที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อเปรียบเทียบกับระดับอากาศในปัจจุบัน คำนี้ปัจจุบันใช้เฉพาะกรณีอากาศเย็นที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๑๖๑๙ เท่านั้น และในบางพื้นที่เหตุการณ์นี้เริ่มเกิดตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๓

อารี พลดี