ไอน์สไตน์ ยอดอัจฉริยะ

          หากจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและผลงานระดับโลกอันดับต้น ๆ  คงจะหนีไม่พ้น นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert  Einstein)  เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐  ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ ทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity)  ความสามารถของเขาทำให้เขาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอัจฉริยะ  ประวัติชีวิตและผลงานของเขาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง 

          จากสารานุกรมประวัติศาสตร์สากลภูมิภาคอเมริกา ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กล่าวถึงประวัติและผลงานของไอน์สไตน์ ที่น่าสนใจ ดังนี้  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ที่ประเทศเยอรมนี  ในวัยเด็กเขาไม่ค่อยชอบการไปโรงเรียน แต่ชอบที่จะทำแบบฝึกหัดวิชาพีชคณิตและเรขาคณิตด้วยตนเอง  ไอน์สไตน์สนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กจึงได้สอบเข้าวิทยาลัยเฟเดอรัลโพลีเทคนิค  เมื่อเรียนจบเขาได้งานเป็นพนักงานจดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ที่กรุงเบิร์น  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๕  เขาได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพ   ผลงานของเขาได้รับความสนใจในวงการวิชาการอย่างกว้างขวาง  ต่อมาเขาได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง  ไอน์สไตน์ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The General Theory of Relativity ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องและทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๑   ต่อมา ในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ และช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๓๐  ขณะเขาไปบรรยายในสหรัฐอเมริกา  พรรคนาซีได้ขึ้นครองอำนาจในประเทศเยอรมนี  ไอน์สไตน์ตกเป็นเป้าหมายที่สำคัญของพรรคนาซี  เขาจึงได้โอนสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา  ชีวิตในบั้นปลายของไอร์สไตน์ได้อุทิศให้ความห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคม  และพยายามผลักดันให้นานาชาติมีการใช้พลังงานปรมาณูเฉพาะในทางสันติ  ไอน์สไตน์เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ ขณะอายุได้ ๗๖ ปี  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่น่ายกย่องและสมควรเอาเป็นแบบอย่างในเรื่องการสนใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กไทยก็น่าเอาเป็นแบบอย่างในการขยันหาความรู้นอกห้องเรียน ไม่แน่ในอนาคตก็อาจจะเกิดอัจฉริยะชาวไทยก็เป็นได้

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์