ไอแอลโอ

          ในการผลิตสินค้าหรือบริการใด ๆ ก็ตาม ปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การผลิตนั้นดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยคือ แรงงงาน จึงมีองค์การระดับโลกที่พยายามจะสร้างมาตรฐานในการทำงานของผู้ใช้แรงงานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้มีความเท่าเทียมและยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากที่สุด องค์การนั้นคือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ-ไอแอลโอ (International Labour Organization-ILO)

          พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ เป็นทบวงการชำนัญพิเศษหน่วยงานแรกขององค์การสหประชาชาติ ที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์การสหประชาชาติ นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อปรับปรุงและคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ และการทำงานของผู้ใช้แรงงาน องค์การนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ ตั้งแต่ยังไม่มีองค์การสหประชาชาติ ต่อมา ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้กลายเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

          องค์การนี้มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ โดยเน้นมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าแรงที่เป็นธรรม และสภาพการทำงานที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เช่น ยกร่างกฎหมายแรงงานภายในประเทศสมาชิก ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ช่วยเหลือทางด้านการศึกษาและฝึกอบรม จัดตั้งสำนักงานจัดหางานทั้งระดับชาติและภูมิภาค ให้การฝึกอบรมทางวิชาชีพ และจัดตั้งศูนย์กลางการฝึกอาชีพชั้นสูง รวมทั้งให้ความร่วมมือทางด้านการวิจัยและข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศมีสมาชิกมากกว่า ๑๘๐ ประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเมื่อ ค.. ๑๙๔๖ และเป็นสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

จินดารัตน์ โพธิ์นอก