๖ ๗ ๘

          ชื่อบทความนี้ไม่ได้บอกใบ้ตัวเลขใด ๆ เพียงแต่เป็นบทความ (บังเอิญให้) จบชุดตัวเลข ๑-๑๐  ตัวเลขที่ยังเหลืออยู่ ๓ ตัวได้แก่ ๖ ๗ ๘ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม [ฉอ ฉ้อ ฉะ] ว่า เป็นวิเศษณ์ แปลว่า หก ใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น ฉกษัตริย์  [ฉ้อกะสัด ฉอกะสัด] เป็นชื่อกัณฑ์ที่ ๑๒ ของมหาชาติ ฉทวาร [ฉะทะวาน] คือ ทวารทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  ษัฏ ษัฑ ษัณ ษัษ ก็ล้วนเป็นวิเศษณ์ แปลว่า หก  โษฑศะ โษฑศัน [โสทะ–] แปลว่า สิบหก โสฬส [–ลด] ก็แปลว่า สิบหก หมายถึง ชั้นพรหมโลก ๑๖ ชั้น ถือกันว่าเป็นที่มีสุขอย่างยอดยิ่ง 

          สัต สัต– สัตตะ [สัด สัดตะ–] แปลว่า เจ็ด  สัตโลหะ คือ โลหะ ๗ ชนิดมี เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เจ้า (เป็นคำตัดมาจาก “จ้าน้ำเงิน”ว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่ง สีเขียวเป็นสีน้ำเงิน) และสังกะสี  สัตมวาร  [สัดตะมะวาน] วันที่ครบ ๗ วันทำบุญครบ ๗ วันของผู้ตาย อีกนิยาม แปลว่า ดี งาม; น่านับถือ  สัตบุรุษ [สัดบุหฺรุด] คือ คนที่เป็นสัมมาทิฐิ มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม

          อัฏฐ– อัฏฐะ อัฐ– [อัดถะ–] แปลว่า แปด อัฐบริขาร หมายถึง เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองนํ้า สมณบริขาร ก็เรียก อัฏฐังค์  แปลว่าองค์ ๘ ๘ ส่วน ๘ ชั้น อัฏฐังคิกมรรค  [อัดถังคิกะมัก] หมายถึง มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฐิ–ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ–ความดำริชอบ สัมมาวาจา–การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ–การงานชอบ สัมมาอาชีวะ–การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ–ความพยายามชอบ สัมมาสติ–ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ–ความตั้งใจชอบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ทางสายกลาง นั่นเองค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ