เกี่ยวกับหนี้

หนี้ คำสั้น ๆ แต่เกี่ยวข้องกับคนเรามาก ไม่ว่าจะในฐานะเป็นเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ ก็ตาม  ในความเป็นจริง นอกจาก เจ้าหนี้ ลูกหนี้ แล้ว ยังมีลักษณะหรือรูปแบบการเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้อีกด้วย  ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้อธิบายลักษณะหรือรูปแบบการเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ดังกล่าวไว้หลายอย่าง สรุปได้ดังนี้

หนี้ หรือ หนี้สิน หมายถึง เงินที่ผู้หนึ่งติดค้างอยู่จะต้องใช้ให้แก่อีกผู้หนึ่ง  โดยในทางกฎหมายยังมีคำว่า หนี้เกลื่อนกลืนกัน หมายถึง หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุที่สิทธิและความรับผิดในหนี้นั้นตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน  หนี้ประธาน หมายถึง หนี้หลักหรือหนี้ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากมูลหนี้อันใดอันหนึ่ง  หนี้อุปกรณ์ หมายถึง หนี้ที่เกิดขึ้นจากหนี้ประธานหรือเพื่อประโยชน์แห่งหนี้ประธาน.

เจ้าหนี้ นอกจากจะหมายถึง เจ้าของหนี้ หรือผู้ขายเชื่อหรือให้กู้ยืมทรัพย์แก่บุคคลซึ่งเรียกว่าลูกหนี้ แล้ว  ในทางกฎหมายยังมีคำว่า เจ้าหนี้บุริมสิทธิ  หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด  เจ้าหนี้มีประกัน หมายถึง เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ เจ้าหนี้ร่วม หมายถึง บุคคลหลายคนซึ่งมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้โดยสิ้นเชิงได้

ส่วน ลูกหนี้ นอกจากจะหมายถึง ผู้เป็นหนี้, คู่กับ เจ้าหนี้ แล้ว  ในทางกฎหมายยังมีคำว่า ลูกหนี้ชั้นต้น (principal debtor) หมายถึง ลูกหนี้ในมูลหนี้ประธาน เช่น หนี้อันเกิดจากสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ประธาน ส่วนหนี้อันเกิดจากสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้อุปกรณ์  ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (judgement debtor) หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีและมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  ลูกหนี้ร่วมกัน, ลูกหนี้ร่วม (joint debtors) หมายถึง บุคคลหลายคนซึ่งต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้โดยสิ้นเชิง.

                กนกวรรณ  ทองตะโก

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗