ค้นคำอย่างไรในพจนานุกรม (๒) 

               การค้นคำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นเรื่องที่ไม่ยากหากผู้ใช้ได้ศึกษาหลักการจัดทำและวิธีใช้ให้เข้าใจก่อน  หลักการเบื้องต้นคือ ค้นตามรูปพยัญชนะและรูปสระ  เวลาค้นคำในพจนานุกรมฯ แล้วไม่พบคำที่ต้องการ อาจมาจากสาเหตุอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ทราบว่าคำที่ต้องการค้นนั้นเป็นลูกคำของคำตั้งหรือไม่

               คำตั้ง หรือ แม่คำ คือคำที่ยกขึ้นตั้งเพื่อนิยามความหมายในการทำพจนานุกรม ส่วน ลูกคำ ใช้เรียกคำ ๒ คำ ที่เอามาประสมกันโดยคำแรกเป็นคำเดียวกับคำตั้ง และมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับคำตั้ง เช่น ลูกค้า ลูกเขย เป็นลูกคำของ ลูก  เรื่องของคำตั้งและลูกคำที่ทำให้ค้นคำไม่พบนั้น ก็เนื่องมาจากบางครั้งคำที่ต้องการค้นนั้น ไม่ได้เป็นลูกคำ แต่เป็นคำตั้ง  ตัวอย่างเช่น คำ ลูกสังกะสี กับ ลูกหม้อ ที่เป็นชื่อพันธุ์ปลากัด  ไม่ได้เป็นลูกคำของคำตั้ง ลูก  ดังนั้น ลูกสังกะสี กับ ลูกหม้อ จึงไปลำดับอยู่กับคำตั้งอื่น ซึ่งผู้ใช้บางคนค้นที่ลูกคำของ ลูก แล้วไม่พบ จึงเข้าใจว่าพจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำ ลูกสังกะสี กับ ลูกหม้อ ไว้  ตัวอย่างคำที่เป็นลูกคำซึ่งมีผู้ใช้พจนานุกรมแจ้งมาที่ราชบัณฑิตยสถานว่าไม่มีเก็บไว้ คือ เส้นรุ้ง กับ เส้นแวง   เส้นรุ้ง กับ เส้นแวง เป็นลูกคำของคำตั้ง เส้น  ดังนั้นจึงต้องไปค้นที่คำว่า เส้น แล้วไล่ดูไปตั้งแต่คำว่า เส้น ที่ประสมกับคำที่ขึ้นต้นด้วย ไปจนถึง เส้น ที่ประสมกับคำที่ขึ้นต้นด้วย  ก็จะพบคำว่า เส้นรุ้ง เป็นคำนาม หมายถึง ละติจูด และ เส้นแวง เป็นคำนามหมายถึง ลองจิจูด   ถ้าต้องการทราบความหมายเต็มของ เส้นรุ้ง กับ เส้นแวง ก็ต้องไปดูที่ความหมายของคำตั้ง ละติจูด กับ ลองจิจูด ในหมวดอักษร    ละติจูด มาจากคำภาษาอังกฤษว่า latitude คือ เส้นรอยตัดระหว่างผิวโลกกับพื้นฐานที่ตั้งได้ฉากกับแกนขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้  รอยตัดนี้จะเป็นวงกลมที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตร ค่าของละติจูดนับออกจากเส้นศูนย์สูตรไปทางขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ โดยวัดไปตามเส้นเมริเดียน เป็นมุมที่ศูนย์กลางของโลก, เดิมใช้ว่า เส้นรุ้ง  ส่วน ลองจิจูด มาจากคำภาษาอังกฤษว่า longitude หมายถึง เส้นรอยตัดระหว่างผิวโลกกับพื้นที่ราบที่ผ่านแกนขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้  รอยตัดนี้จะเป็นวงกลมที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร  ค่าลองจิจูดนับออกจากเมริเดียนแรกไปทางตะวันออกหรือตะวันตก โดยวัดไปตามเส้นศูนย์สูตร เป็นมุมที่ศูนย์กลางโลก, เดิมใช้ว่า เส้นแวง

แสงจันทร์  แสนสุภา

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗