BUILT TO BUILD

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ไม่ได้มีเจตนาจะโฆษณาสินค้า แต่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงคำนี้ เพราะผู้อ่านถามมาว่า ทำไมคำนี้ในโฆษณาจึงเขียนว่า “บิวท์ทูบิวด์” ทั้ง ๆ ที่คำนี้น่าจะมี ล ลิง เป็นตัวสะกด

ลองมาดูการถอดคำนี้โดยใช้อักษรไทยสักนิด ถ้าเป็นหลักของราชบัณฑิตยสถาน คำนี้ต้องเขียนว่า บิลต์ทูบิลด์

พยางค์แรกและพยางค์ที่สามต่างก็มี ล ลิง เป็นตัวสะกด พยางค์แรกมีตัว ต การันต์ ตามหลักที่ว่า ตัว t เมื่อเป็นตัวสะกดหรือตัวการันต์ให้แทนด้วย ต เต่า ถ้าเป็นพยัญชนะต้นจึงจะแทนด้วย ท ทหาร ส่วนพยางค์ที่สาม ตัว d ไม่ว่าจะเป็นพยัญชนะต้น ตัวสะกด หรือตัวการันต์ก็ใช้อักษรตัวเดียวกัน คือ ด เด็ก

เมื่อถึงตอนออกเสียง คนไทยก็มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ จะออกเสียงแบบแม่กน เป็น “บินทูบิน” หรือ ออกเสียงโดยม้วนลิ้นเล็กน้อย แบบเดียวกับที่ออกเสียงเล่นๆ ในคำว่า “เหมียนกัล” หรือที่ลิเกออกเสียงคำว่า “ฉัน” เป็น “ฉัล” เพื่อมิให้สับสนจะขอใช้ ตัว L แทน ล ลิง ที่ออกเสียงแบบม้วนลิ้น เป็น “บิLทูบิL” ส่วนการออกเสียงสูงต่ำเป็น “บิ้นทูบิ้น” หรือ “บิ้Lทูบิ้L” นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

แต่ทำไมจึงกลายเป็นบิ้วทูบิ้ว” ว แหวน โผล่หน้าเข้ามาแทน ล ลิง ได้อย่างไร เป็นวิธีการออกเสียงของคนไทยหรือเปล่า

การที่จะตอบคำถามข้อนี้ก็จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก


ก่อนอื่นต้องมาดูเรื่องการออกเสียงสระภาษาไทยสักเล็กน้อย

สระเดี่ยวในภาษาไทยไทยนั้น ออกเสียงแตกต่างกันไปตามส่วนของลิ้นที่ทำหน้าที่ กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ

ถ้ายกลิ้นส่วนหน้าขึ้น ก็จะเรียกว่าสระหน้า ได้แก่ อิ อี เอะ เอ แอะ แอ

ถ้ายกลิ้นส่วนกลางขึ้น (หรือกดลงต่ำ) ก็เรียกว่าสระกลาง ได้แก่ อะ อา เออะ เออ อึ อือ

ถ้ายกลิ้นส่วนหลังหรือโคนลิ้นขึ้น ก็เรียกว่าสระหลัง ได้แก่ อุ อู โอะ โอ เอาะ ออ

เขียนเป็นตารางง่ายๆ ได้ดังนี้คือ

หน้า กลาง หลัง

อิ อี อึ อือ อุ อู

เอะ เอ เออะ เออ โอะ โอ

แอะ แอ อะ อา เอาะ ออ

หากลองทำเสียงเหล่านี้ดู จะเห็นได้ว่า เวลาที่ทำเสียงสระหน้านั้นเรายิ้มได้ และเวลาที่ทำเสียงสระหลังนั้นปากของเราจะจู๋หรือหุบลงมาโดยธรรมชาติ

ทีนี้ลองสังเกตคำยืมจากภาษาอังกฤษและเยอรมัน เราจะเห็นรูปแบบอันน่าสนใจดังนี้คือ

สระหน้า

build
บิลด์ (บิน/บิL/บิว)

Israel
อิสราเอล (อิสราเอน/อิสราเอL/อิสราเอว)

L
แอล (แอน/แอL/แอว)

สระกลาง

Mu ller
มึลเลอร์ (มึนเลอ/มึLเลอ) (ตัว m มีจุดข้างบน ๒ จุด)

pearl
เพิร์ล (เพิน/เพิL)

Nepal
เนปาล (เนปาน/เนปา
L)

สระหลัง


pool
พูล (พูน/พูL)

poll
โพลล์ (โพน/โพ
L)

ball
บอล (บอน/บอ
L)

จะเห็นได้ว่าถ้าคำนั้นใช้สระหน้า และมีตัวสะกดเป็นตัว L แม่กน อาจจะกลายเป็น แม่เกอว ไปได้ คำอื่นๆ เท่าที่นึกออกก็มี Brazil (บราซิว) milk (มิ้ว) email (อีเมว) Shell (เชว) แต่ bill ออกเสียงเป็น “บิน” หรือ “บิL” ไม่ใช่ “บิว”


เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเป็นคำซึ่งมีที่มาจากบาลีสันสกฤต ถ้ามีสระหน้า และมีตัวสะกด ร เรือ หรือ ล ลิง เราจะออกเสียงเป็น แม่กน ทั้งหมด เช่น นิล (นิน) เถร (เถน) เพล (เพน) เมรุ (เมน)

จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นคำยืมใหม่ๆ จากภาษาอังกฤษหรือภาษาตะวันตกอื่นๆ ถ้าคำนั้นใช้สระหน้า มีตัวสะกดเป็นตัว L เวลาออกเสียง อาจจะมีการเลื่อนเสียงจากแม่กนเป็นแม่เกอวได้ในบางคำ ถ้าผู้ออกเสียงไม่ระวัง แต่เวลาเขียนไม่ควรเขียนตามที่ออกเสียง (ผิดๆ)

ใครจะวิเคราะห์ว่าอย่างไรอีก ก็ยินดีรับฟังจ้ะ

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๙๐ วันที่ มิถุนายน ๒๕๔๖