Elvis กับ Beatles (๒)

ขอกลับมาที่เรื่องการทับศัพท์อีกนิด

เรื่องการซ้อนพยัญชนะตัวสะกดนี้ คนไทยทั่วไปจะทำกันมาก เพราะหูได้ยินเช่นนั้น ไม่มีใครสนใจว่าพยางค์ที่ตามมาเป็นปัจจัยหรือไม่ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ปัจจัย” ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร เพราะคำว่า “ปัจจัย” สำหรับคนทั่วไปหมายถึง “เงิน” ตัวอย่างคำอื่นที่ไม่ใช่ชื่อเฉพาะก็มีให้เห็น เช่น “super” เรามีคำว่า “ซุปเปอร์” หรือ “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” “ซุปเปอร์แมน” “น้ำมันซุปเปอร์” ฯลฯ ทั้งๆ ที่คำว่า “super” นี้ ตามหลักต้องเขียนว่า “ซูเปอร์” ตามหลักของราชบัณฑิตยสถานที่ว่า

p เมื่อเป็นพยัญชนะต้นให้ใช้ พ โดยตลอด ยกเว้นกลุ่มพยัญชนะบางกลุ่มที่ไทยนิยมใช้เสียง ป ให้ใช้ ป ดังนี้ super- -pa -pean -per -pia; -pic; -ping; -pion -po -pus และ -py

ตัวอย่าง

superman = ซูเปอร์แมน

Europa = ยูโรปา

bumper = บัมเปอร์

topic = ทอปปิก

shopping = ชอปปิง

hippy = ฮิปปี้

hippo = ฮิปโป

Olympus = โอลิปัส

(หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๕ หน้า ๒๑-๒๒ หรือจะเปิดดูได้ที่ legacy.orst.go.th)

จะเห็นได้ว่า เป็นความผสมผสานกันระหว่างการออกเสียงตามภาษาเดิมและการออกเสียงตามแบบไทย

มีข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับกฎข้อ ๗.๑ ที่ว่า

๗.๑ ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอะ ซึ่งเมื่อทับศัพท์ต้องใช้รูปไม้หันอากาศ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์หน้าเข้าอีกตัวหนึ่งเพื่อเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป

กฎนี้แสดงให้เห็นวิธีเขียนคำไทยอย่างชัดเจนมาก นั่นคือถ้ามีไม้หันอากาศเมื่อใด พยัญชนะที่ตามมาจะต้องเป็นตัวสะกดเท่านั้น จะทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไปไม่ได้ ยกเว้นการแทรก เสียงอะ เล็กน้อยในคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น วัฒนา พิสมัย ฯลฯ ค้าที่ไม่เขียนตามกฎนี้จึงเป็นคำอ่านยากในภาษาไทย เช่น จัตุรงค์ จัตุรพักตร์ จัตุรภุช จัตุรมุข จัตุรัส คำเหล่านี้ลองพยางค์แรกอ่านว่า “จัด-ตุ” ทั้งสิ้น จนในที่สุดผู้ใช้ภาษาไทยก็เลือกที่จะตัดไม้หันอากาศทิ้งไป

ส่วนกฎข้อ ๗.๓ ซึ่งให้ซ้อนพยัญชนะได้หากเป็นคำที่เกิดจากการเติมปัจจัยนั้น ในความเป็นจริง มีหลายคำที่ผู้ใช้ภาษาซ้อนพยัญชนะทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัย ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการออกเสียงนั่นเอง

สําหรับ Elvis นั้น เราถอดได้ตรงตัวว่า “เอลวิส” แต่ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงอย่างนี้ เขาเน้นที่พยางค์หน้า พยางค์หลังจึงฟังได้คล้ายกับ “เวิส” มากกว่า “วิส” นอกจากนี้แล้วเสียง “v” ก็ไม่เหมือน ว แหวน เพราะเสียงนี้ฟังคล้าย ว แหวน ผสม ฟ ฟัน สำหรับพยางค์หน้านี้ คนไทยออกเสียงม้วนลิ้นได้นิดหนึ่งเป็น “เอล” ไม่ใช่ “เอน” เหมือนกับที่ลิเกออกเสียงว่า “อันตัวฉัลมีนามว่า…” ได้ ส่วนพยางค์หลัง บางคนก็ออกเสียงซู่ซ่าข้างท้ายนิดหนึ่งได้ รวมความว่าเราเลือกตามเสียงไทย หรือ เรียกตามที่เราเรียก ไม่ได้เรียกตามที่เจ้าของชื่อเรียก

การเรียกชื่อตามลิ้นของเจ้าของภาษา ไม่ใช่ตามที่เจ้าของชื่อเรียกนี้ ปรากฏชัดในภาษาญี่ปุ่น สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว “Elvis” คือ “Eruvisu” ส่วน “Beatles” คือ “Biitoruzu” อ่านกลับเป็นไทยได้ว่า “เอรุวิซุ” และ “บีโตรุซุ” ตามลำดับ แต่เสียง อุ จะไม่เน้น จึงพอฟังเป็นเสียงเดิมได้

เมื่อสมัยที่เป็นนักเรียน มีครูชาวฟิลิปปินส์มาสอนภาษาอังกฤษ ครูพูดถึงนักร้องชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ฟังครั้งใดก็เป็น “เป็ดบ่น” ทุกครั้ง กว่าจะรู้ว่าเป็น “Pat Boone” ก็ต้องให้ครูเขียนให้ดู

แฟนๆ Beatles คงต้องไปตัดสินใจเลือกเอาเองว่า จะให้เป็น “บีเทิลส์” หรือ “บีตเทิลส์” ดี แต่เวลาไปหาซื้อแผ่นซีดีในเมืองไทย เด็กขายของหน้าร้านอาจจะไม่รู้จักทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “เอลวิส” “บีเทิลส์” หรือ “บีตเทิลส์” เพราะเขารู้จักแต่

“เอ็นวิด” กับ “บี้ตเติ้น” เท่านั้นจ้ะ

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน