facsimile โทรภาพ หรือ โทรสาร

           เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้เขียนจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง สงสัยว่า เหตุใดราชบัณฑิตยสถานจึงบัญญัติคำ facsimile หรือ fax ว่า “โทรภาพ” ทั้งนี้คำนี้คนทั่วไปและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็ใช้ว่า “โทรสาร” กันทั่วเมือง (ไทย) ยิ่งกว่านั้นราชบัณฑิตยสถานยังมีหนังสือไปยังหน่วยราชการให้ใช้คำ โทรภาพ แทนคำ โทรสารอีกด้วย จึงออกจะน่าสนใจไม่น้อยว่า ทำไมจึงเป็น โทรภาพ แทนที่จะเป็น โทรสาร

            facsimile ออกเสียงตามพจนานุกรมอังกฤษว่า แฟ็ก-ซิม-อิ-ลี ไม่ใช่ แฟ็ก-ซิ-ไมล์ อย่างที่มักจะได้ยินคนทั่วไปอ่านกัน facsimile เป็นระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่สามารถส่ง “ข้อมูล” ไปจุดปลายทางที่ต้องการ (ซึ่งอาจจะอยู่ไกลคนละทวีป) โดย “ข้อมูล” จะไปปรากฏยังเครื่องรับในลักษณะของการถ่ายทอด “ภาพ” ที่เหมือนกับ “ข้อมูลต้นฉบับ” ไม่ใช่แต่ “สาร” (แก่น เนื้อแท้ที่แข็งแรง ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ ถ้อยคำ หนังสือ จดหมาย) เท่านั้น ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นิยามความหมายของ “โทรภาพ” ว่า น.ภาพหรือรูปที่ส่งมาทางไกล; กรรมวิธีในการถอดแบบเอกสารตีพิมพ์ หรือรูปภาพโดยทางคลื่นวิทยุ หรือทางสาย เช่นสายโทรศัพท์.

            เพื่อเป็นการยืนยันอีกชั้นหนึ่ง จึงขอคัดคำนิยามของ facsimile จาก Dictionary of Scientific and Technical Terms ของ McGraw-Hills มาประกอบด้วย ดังนี้ :-

            Facsimile [Commun] 1. A system of communication in which a transmitter scans a photograph map or other fixed graphic materials and converts the information into signal waves for transmission by wire of radio to a facsimile receiver at a remote point. Also known as fax; phototelegraphy; radio photo; telephoto; telephotography; wirephoto. 2. A photograph transmitted by radio to facsimile receiver. Also known as radiophoto.

            เมื่อพิเคราะห์จากคำนิยามข้างต้นที่ยกมานั้น ก็คงพอจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติคำ facsimile ว่า “โทรภาพ” ได้ เพราะโดยรูปศัพท์ “โทรภาพ” นั้น สื่อความหมายได้ถูกต้องกับความหมาย facsimile ในการเก็บคำนี้ลงในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น ราชบัณฑิตยสถานได้สอบถามไปยังหน่วยราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารซึ่งก็ได้ยืนยันการใช้คำ “โทรภาพ” นี้

            เหตุที่ปัจจุบันมักใช้ว่า “โทรสาร” อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติคำนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ และเก็บลงในพจนานุกรมแล้ว อีกประการหนึ่งเครื่อง fax ที่ใช้กันตามสำนักงานต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มักใช้ส่งหรือรับแต่จดหมายธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ จีงคิดคำ “โทรสาร” ขึ้น ซึ่งสื่อความหมายไม่ตรงกับคำต้นคำศัพท์เท่ากับคำ “โทรภาพ” ที่ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติขึ้น

            อย่างไรก็ตาม ถ้าต่อไปคำ โทรสาร เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปและ “ติด” แล้ว ก็จะต้องถือว่าเป็น “คำเพี้ยนที่ใช้ได้” อีกคำหนึ่ง เช่นเดียวกับคำ อัตโนมัติ ซึ่งเพี้ยนมาจากศัพท์บัญญัติว่า อัตโนวัติ (automatic) และพจนานุกรมก็คงจะต้องเก็บคำนี้ไว้ เพราะพจนานุกรมเป็นที่รวมของคำที่มีใช้อยู่ในภาษา และประชาชนเป็นผู้ใช้ภาษา.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๒

อ่าน  โทรภาพ-โทรสาร ต่างกันไฉน  เพิ่มเติม