Humour – ธาตุเหลว

          คำภาษาอังกฤษ humour ที่แปลว่า อารมณ์ขัน ในปัจจุบัน  แท้ที่จริงเพิ่งจะใช้ในความหมายดังกล่าวเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นี้เอง  คำว่า humour มาจากภาษาละตินว่า humor แปลว่า ของเหลว (liquid) ความหมายดั้งเดิมของคำนี้มีอธิบายไว้ในพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้  humour บัญญัติศัพท์ว่า ธาตุเหลว หมายถึง ของเหลว ๔ ชนิด ซึ่งชาวยุโรปสมัยกลางเชื่อกันว่าเป็นธาตุที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ ของเหลว ๔ ชนิดนี้ จะปล่อยไอน้ำซึ่งมีผลต่อสมองและทำให้แต่ละบุคคลมีบุคลิกลักษณะต่าง ๆ กันไป ธาตุเหลวแต่ละชนิดมีธาตุ ๒ ธาตุ จากธาตุหลัก ๔ ธาตุ (ร้อน แห้ง หนาว หรือเปียก) ผสมกัน ธาตุเหลวเหล่านี้ได้แก่  (๑) โลหิต (ร้อนและเปียก) ทำให้กระปรี้กระเปร่า ร่าเริง และไร้กังวล  (๒) น้ำดีสีดำ (หนาวและแห้ง) ทำให้เศร้าโศกและมองโลกในแง่ร้าย (๓) น้ำดีสีเหลือง (ร้อนและแห้ง) ทำให้โกรธง่าย อารมณ์ร้าย และไม่มีน้ำใจไมตรี (๔) เสมหะ (หนาวและเปียก) ทำให้อ่อนแอ ไม่ว่องไว และไม่กระตือรือร้น ธาตุเหลวแต่ละชนิดเกี่ยวพันกับธาตุทางธรรมชาติ คือ โลหิตกับอากาศ น้ำดีสีดำกับดิน น้ำดีสีเหลืองกับไฟ และเสมหะกับน้ำ ถือกันว่าบุคลิกภาพในอุดมคติจะมีธาตุเหลวทั้ง ๔ ชนิดนี้สมดุลกัน ถ้ามีธาตุเหลวชนิดใดชนิดหนึ่งเช่นมีโลหิตมากเกินไป ก็จะทำให้บุคลิกภาพไม่สมดุล เช่น เป็นคนที่วู่วาม ขาดความระมัดระวัง ทฤษฎีเกี่ยวกับธาตุเหลวมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนในการสร้างลักษณะนิสัยตัวละคร นักเขียนบทละครได้สร้างตัวละครโดยใช้ทฤษฎีความไม่สมดุลของของเหลวในร่างกายเป็นพื้นฐาน

          ทฤษฎีเกี่ยวกับธาตุเหลวนี้เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมที่เรียกว่าสุขนาฏกรรมลักษณะนิสัย (comedy of humour) ซึ่งมุ่งแสดงลักษณะนิสัยด้านไม่ดีของมนุษย์ อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของของเหลวทั้ง ๔ ในร่างกายซึ่งเป็นทฤษฎีสรีรศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สุขนาฏกรรมประเภทนี้ ตัวละครแต่ละตัวจะมีชื่อที่แสดงลักษณะนิสัยเฉพาะของตัวละครนั้น ๆ เช่น Downright เป็นคนโผงผางตรงไปตรงมา  Knowell เป็นคนรอบรู้  Brainworm เป็นคนฉลาด  Justice Clement เป็นคนยุติธรรม

  แสงจันทร์  แสนสุภา