pollution มลภาวะ หรือ มลพิษ

        ปี ๒๕๓๒ เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีแห่งการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้จึงได้ยินได้พบเห็นจากสื่อมวลชนทุกแขนงบ่อยมากในช่วงปีนี้ ศัพท์วิชาการที่เสมือนเป็นหัวใจของเรื่องนี้ที่คุ้นหูคุ้นตา เพราะมีการใช้พูดใช้เขียนอยู่เสมอ ๆ คือ มลพิษ และ มลภาวะ ผู้ไม่คุ้นเคยมาก่อนคงจะสงสัยว่ามาจากคำภาษาอังกฤษคำใดและมีความหมายว่าอะไร

        มลพิษ และ มลภาวะ เป็นคำที่คิดขึ้นใช้กับคำ pollution ในภาษาอังกฤษ เหตุใดคำอังกฤษคำเดียวจึงมีคำไทยถึง ๒ คำ ทั้งยังมีรูปศัพท์ที่มีเค้ามูลคล้ายกันอีกด้วย ที่มาของศัพท์ทั้ง ๒ คำซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คงจะช่วยไขข้อสงสัยและวินิจฉัยได้ว่าควรจะใช้อย่างไร

        คำ มลพิษ กำเนิดขึ้นจากที่ประชุมของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย แห่งราชบัณฑิตยสถานในการประชุมเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ซึ่งมีพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ที่ประชุมได้พิจารณาคำนี้เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เสนอขอให้บัญญัติคำไทยขึ้นเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ใช้คำเดียวกัน และได้เสนอคำ เปื้อนพิษ สกปรก โสโครก และเสื่อมโทรม มาให้พิจารณาว่าควรใช้คำใด หรือจะคิดคำอื่นใดที่เหมาะสมกว่านี้ องค์ประธานฯ ได้เสนอคำ มลพิษ (อ่านว่า มน-ละ-พิด) มีความหมายว่า พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรก ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ ใช้นำไปประกอบคำอื่น ๆ ได้ทั่ว ๆ ไป เช่น มลพิษทางทะเล น้ำตามลำคลองเริ่มมีมลพิษ ภาวะมลพิษทางอากาศหลายแห่งในกรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ควันจากท่อไอเสียรถโดยสารก่อให้เกิดมลพิษ

        คำ มลภาวะ เป็นศัพท์ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอมาให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาทบทวนศัพท์ มลพิษ ที่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้เหตุผลที่ขอให้ทบทวนและเสนอคำ มลภาวะ ว่า คำ pollution มีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ของวิชาการสิ่งแวดล้อม น่าจะพิจารณาให้ครอบคลุมไปทุก ๆ ด้านและควรได้นำหลักเกณฑ์ทางวิชาการทางสิ่งแวดล้อมเข้ามาประกอบ มลพิษ โดยรูปศัพท์น่าจะหมายถึงสิ่งที่เป็นพิษที่เกิดจากความมัวหมอง หรือความสกปรก เป็นของมีตัวตน ส่วน pollution โดยรูปศัพท์เป็นอาการนาม หมายถึง สภาวะ หรือ ความเป็นไป พร้อมกันนี้ได้เสนอเอกสารมาเพื่อให้ใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

        คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาทบทวนความหมายของศัพท์ pollution จากเอกสารที่ส่งมา และมีความเห็นว่า คำ มลภาวะ ตามรูปศัพท์แปลว่า ความมัวหมอง หรือความสกปรก ไม่แสดงว่ามีพิษ เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย น้ำตามลำคลองหรืออากาศโดยทั่ว ๆ ไปก็สกปรกแต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหาย และคำว่า พิษ ที่ใช้อยู่ในภาษาไทยมิได้หมายความถึง สิ่งที่เป็นพิษอย่างเดียว แต่หมายถึง ความเป็นพิษ ด้วยก็ได้ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่า มลพิษ เหมาะสมกว่า เพราะจากเอกสารซึ่งทางสถาบันฯ ส่งมานั้น ความหมายของ pollution ใช้ในความหมายที่ก่อความเป็นพิษ อันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าความหมายตามรูปศัพท์ (denotation) ของ pollution จะหมายเพียงความไม่บริสุทธิ์ ความสกปรกเท่านั้นก็ตาม แต่ความหมายปัจจุบันที่นิยมใช้ (connotation) หมายถึง ความเป็นอันตราย ความเป็นพิษ ด้วย คำ มลพิษ จึงถ่ายทอดความหมายของ pollution ตามความหมายที่นิยมใช้ได้ชัดเจนและถูกต้องกว่า คำ มลภาวะ ซึ่งหมายถึง ความสกปรก ความมัวหมอง เท่านั้น

        ด้วยเหตุนี้ คำ pollution จึงมีคำไทยขึ้นใช้ ๒ คำ การที่ใช้คำที่กินความได้ไม่ตรงตามความหมายที่นิยมใช้ เมื่อต้องการให้เห็นว่าเกิดอันตรายหรือเสียหาย จึงได้พบข้อความว่า “บางจุดในกรุงเทพฯ มีมลภาวะทางอากาศเป็นพิษ” ซึ่งหากจะใช้ว่า บางจุดในกรุงเทพฯ มีมลพิษทางอากาศ จะกะทัดรัดกว่าและได้เนื้อความเท่ากัน.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๒