ชุกชี

          ชุกชี (อ่านว่า ชุก-กะ-ชี) เขียน ช ช้าง  สระอุ  ก ไก่  ช ช้าง  สระอี พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำนิยามว่า ฐานปูนสำหรับประดิษฐานพระประธาน บางทีเรียกว่า จุกชี (อ่านว่า จุก-กะ-ชี)

          พระธรรมนิเทศทวยหาญ ได้สันนิษฐานที่มาของคำ ชุกชี (อ่านว่า ชุก-กะ-ชี) ว่าน่าจะมาจากคำภาษาเปอร์เซียว่า Sฺugh (อ่านว่า ซุค) และ Jay [อ่านว่า ไญยย (หมายเหตุ ญ ออกเป็นเสียง ช กึ่ง ญ)]    Sฺugh แปลว่าพระพุทธรูป หรือรูปปั้นของพระผู้เป็นเจ้า  ส่วนคำว่า Jay แปลว่า สถานที่ หรือที่ตั้ง  Sฺugh Jay จึงแปลว่า ที่ตั้งพระพุทธรูป หรือที่ตั้งรูปปั้นพระผู้เป็นเจ้า คำนี้กลายมาเป็น ชุกชี (อ่านว่า ชุก-กะ-ชี) ในภาษาไทยซึ่งมีความหมายว่า ฐานปูนสำหรับประดิษฐานพระประธาน อาจใช้เป็นคำซ้อนว่า ฐานชุกชี (อ่านว่า ถาน-ชุก-กะ-ชี) ก็ได้.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.