ดอกไม้ประจำชาติ

          คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติกำหนดให้มีสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ๓ สิ่งได้แก่ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย (Chang Thai)  ดอกไม้ประดับชาติ คือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) สถาปัตยกรรมประจำชาติ คือ ศาลาไทย (Sala Thai)

          แม้ว่าคณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้ดอกราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยแล้ว ก็ยังมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะและการเรียกชื่อซึ่งมักสับสนกับพรรณไม้ในสกุลเดียวกันอย่างชัยพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ บรรยายลักษณะของพรรณไม้ข้างต้นไว้ย่อ ๆ ดังนี้
          กัลปพฤกษ์  [กันละปะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia bakeriana  Craib ในวงศ์ Leguminosae มีมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ ดอกสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ ฝักมีขนนุ่ม
          กาฬพฤกษ์  น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia grandis  L.f. ในวงศ์ Leguminosae ลําต้นดํา ใบอ่อนสีแดง ดอกเล็ก สีแดงคล้ำแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม ฝักใหญ่อ้วนสั้น ผิวขรุขระ ด้านข้างมีสัน เป็นพรรณไม้ที่นําเข้ามาปลูก
          ชัยพฤกษ์  [ไชยะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia javanica  L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ ฝักเกลี้ยง ใช้ทํายาได้
          ราชพฤกษ์  [ราดชะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia fistula  L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง  ฝักสีดํา เกลี้ยง ใช้ทํายาได้ คูน หรือ ลมแล้ง ก็เรียก; ดอกไม้ประจำชาติ

          ด้วยชื่อที่มีความหมายโดดเด่นของราชพฤกษ์ที่แปลว่า ต้นไม้ของพระราชา และเป็นไม้ยืนต้นที่มีดอกสีเหลืองอร่ามตา ดอกราชพฤกษ์จึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติไทย.

รัตติกาล  ศรีอำไพ