ตรียัมปวาย

          ถ้ากล่าวถึงคำว่า ตรียัมปวาย คิดว่าผู้อ่านหลายคนอาจไม่รู้จักว่าคำนี้คืออะไร แต่ถ้ากล่าวถึง พิธีโล้ชิงช้า หลายคนคงรู้จักดี พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามว่า ตรียัมปวาย หมายถึง พิธีพราหมณ์ฝ่ายใต้กระทํารับพระอิศวร ที่เรียกเป็นสามัญว่า พิธีโล้ชิงช้า ซึ่งกระทําในวันขึ้น ๗ คํ่าตอนเช้า ขึ้น ๙ คํ่าตอนเย็น เดือนยี่ สารานุกรมไทย เล่ม ๑๒ ของราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า คำตรียัมปวายนี้ นัยว่าเป็นคำที่เลือนมาจากภาษาทมิฬว่า “ติรุเวมปาไว” ซึ่งตามหลักฐานเท่าที่พบในภาษาไทยจะเขียนต่าง ๆ กัน เช่น ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ เขียนว่า พิธีตรียำปวาย ในกฎมนเทียรบาล กฎหมายตราสามดวง เขียนว่า พิธีตรียำพวาย ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนว่า พระราชพิธีตรียัมพวาย ในหนังสือประกาศพระราชพิธีเล่ม ๑ เขียนว่า ตรียัมภวาย ส่วนที่เขียนว่า ตรียัมปวาย นั้น เขียนตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓

          คำว่า ตรียัมปวาย นอกจากจะหมายถึงพิธีโล้ชิงช้าแล้ว ยังหมายถึงชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งด้วย คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไว้โดยสรุปดังนี้

          ตรียัมปวาย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางด้านข้าง ลำต้นขึ้นชิดกันเป็นกอขนาดใหญ่ เอียงหรือห้อยลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบตั้งแต่กลางลำต้นถึงใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมชมพู ทั้งกลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงข้างผิวด้านนอกมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก.

อารี พลดี