บังสุกุลจีวร-คหบดีจีวร

          จีวร คือผ้า ๓ ผืนที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาใช้นุ่งห่ม ได้แก่ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าซ้อนห่มหรือผ้าพาดบ่า

          ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ภิกษุทำจีวรจากเศษผ้าที่ทิ้งแล้วหรือจากผ้าห่อศพ และเรียกจีวรเช่นนั้นว่า บังสุกุลจีวร (อ่านว่า บัง-สุ-กุน-จี-วอน) แปลตามศัพท์ว่า ผ้าคลุกฝุ่น.

          ต่อมาหมอชีวกโกมารภัจจ์ (อ่านว่า ชี-วก-โก-มา-ระ-พัด) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสารและเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้ขอพุทธานุญาตให้พระภิกษุสามารถรับจีวรที่มีผู้ศรัทธาถวายได้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต จึงเรียกจีวรที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุว่า คหบดีจีวร (อ่านว่า คะ-หะ-บอ-ดี-จี-วอน) แปลตามศัพท์ว่า ผ้าของผู้เป็นเจ้าบ้าน คือผ้าที่ได้จากผู้ครองเรือน.

          ปัจจุบัน บังสุกุลจีวร หมายถึง ผ้าที่ทอดไว้หน้าศพหรือทอดบนสายโยงหรือภูษาโยงที่ต่อจากศพ สำหรับให้ภิกษุมาปลงกรรมฐานและชักไปเนื่องในงานศพ มักเรียกย่อ ๆ ว่า ผ้าบังสุกุล

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.