พญาโศก

          ในบรรดาเพลงที่วงโยธวาทิตบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะได้ยินกันแต่ทำนองที่สนุกสนาน ปลุกใจ ทั้งที่จริงแล้วยังมีทำนองเพลงที่ให้อารมณ์โศกเศร้า ดังเช่นการบรรเลงเพลงพญาโศก ซึ่งมีที่มาจากการใช้บรรเลงนำขบวนพระบรมศพของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วย

          เดิมทีเดียวเพลงพญาโศกเป็นชื่อเพลงไทยที่ร้องหรือบรรเลงประกอบในอารมณ์โศกเศร้า ดังที่สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๐ ได้อธิบายไว้ การใช้เพลงพญาโศกร้องประกอบการแสดงโขนละครจะเป็นเพลงพญาโศก ๒ ชั้น และต้องร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่ เช่น ยืน นั่ง นอน เท่านั้น จะใช้ในบทที่เดินเคลื่อนที่ไปไม่ได้ นอกจากนี้ บทที่ร้องด้วยเพลงพญาโศกจะต้องเลือกฐานะของตัวละคร โดยมากจะต้องใช้กับตัวละครที่เป็นกษัตริย์ เจ้านาย หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง เช่น ในบทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนที่ว่า “เหลือบเห็นพระไวยอาลัยพ่อ น้ำพระเนตรคลอคลอถึงขุนแผน” หรือบทของอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ว่า “ทอดองค์ลงกับที่ศรีไสยาสน์ ร้อนราชหฤทัยหม่นหมอง”

          การบรรเลงเพลงพญาโศก มีทั้งอัตรา ๒ ชั้น และ ๓ ชั้น ถ้าเป็นการบรรเลงเพลงพญาโศก ๒ ชั้น บางครั้งจะบรรเลงเฉพาะเพลงพญาโศกเพลงเดียว บางครั้งก็จะบรรเลงเป็นเพลงเรื่อง ที่เรียกว่า เรื่องพญาโศก ซึ่งมีหลายเพลงต่อกัน เช่น การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบเทศน์มหาชาติ เมื่อพระเทศน์จบกัณฑ์ทานกัณฑ์ ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงเพลงเรื่องพญาโศกประกอบกิริยาเศร้าโศกของเนื้อเรื่องในกัณฑ์ทานกัณฑ์นั้น แต่ถ้าเป็นการบรรเลงเพลงพญาโศก ๓ ชั้น โดยมากจะบรรเลง “เดี่ยว” คือบรรเลงคนเดียว ผู้เดี่ยวจะต้องแม่นยำ และแสดงความสามารถประดิษฐ์ทำนองให้ไพเราะพิสดารกว่าเพลงธรรมดา

          ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงนำเอาเพลงพญาโศก ๒ ชั้น มาทรงแต่งเป็นทำนองโศกตามแบบดนตรีตะวันตก และให้วงโยธวาทิตใช้บรรเลงนำขบวนพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แทนเพลงโศกของฝรั่งที่เคยใช้บรรเลงกันมาก่อน และได้ใช้เพลงพญาโศกนี้บรรเลงกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน.

กนกวรรณ ทองตะโก