มอเตอร์ไซค์

          ท่านที่ใช้บริการปั๊มน้ำมันเป็นประจำ คงจะเคยเห็นป้ายเก๋ ๆ ที่บางปั๊มนำมาตั้งบอกทางว่า “มอ–ไซร์ เชิญทางนี้” อ่านป้ายแล้วทุกคนก็เข้าใจและทำตามได้ถูกต้อง จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

          ถ้ามองอย่างผิวเผินดูเหมือนว่าจะไม่มีปัญหาอย่างที่ทุกคนคิด แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งสักนิดจะเห็นว่ากำลังมีปัญหาสับสนระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียน  เนื่องจากคนส่วนมากนิยมเรียกรถจักรยานยนต์ว่า มอ–ไซ เวลาเขียนจึงมักจะเขียนตามเสียงที่ได้ยิน แต่มีข้อสังเกตว่ารูปเขียนหลายรูปของ มอ–ไซ จะต้องใส่การันต์ไว้สักที่หนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอาศัยแนวเทียบจากคำยืมภาษาต่างประเทศที่พบเห็นทั่วไป เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะใช้อักษรการันต์ตัวไหนดี รูปเขียนของ [มอ–ไซ] จึงเห็นกันหลากหลาย เช่น มอร์ไซ มอไซค์ มอไซส์ มอไซร์ มอไซก์

          คำ “มอไซ” ไม่ว่าจะใส่การันต์ที่ใด ล้วนมาจากคำที่สะกดถูกต้องว่า มอเตอร์ไซค์ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า เป็นภาษาปาก หมายถึง จักรยานยนต์ รถที่มีล้อ ๒ ล้อเหมือนกับรถจักรยานยนต์ ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ รถเครื่องก็ว่า  ภาษาปากในที่นี้ หมายถึง ภาษาพูดที่แสดงความคุ้นเคย ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นพิธีรีตอง  มอเตอร์ไซค์ ถอดทับศัพท์แบบย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า motorcycle (มอเตอร์ไซเคิล)  หากต้องการจะใช้คำ “รถมอเตอร์ไซค์” ในภาษาทางการ จะต้องใช้ว่า “รถจักรยานยนต์” ซึ่งมีความหมายทั่วไปว่า รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์  ส่วนในทางกฎหมาย หมายถึง รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และมีล้อไม่เกิน ๒ ล้อ ถ้ามีพ่วงข้าง มีล้อเพิ่มอีกไม่เกิน ๑ ล้อ

          คำทับศัพท์ซึ่งนิยมใช้กันจำนวนไม่น้อยมีรูปเขียนที่ไม่มีเค้าของคำในภาษาเดิมเช่นเดียวกับคำ มอ–ไซร์ เช่น ล้อแมกซ์ ยางเรเดียร  คำที่สะกดถูกต้องคือ ล้อแม็ก ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า mag wheel  และ ยางเรเดียล ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า radial tire  radial–ply tire radial–ply tyre หรือ radial tyre

แสงจันทร์  แสนสุภา