โมง-ทุ่ม-ตี

          “พรุ่งนี้ฉันมีนัดตอนสิบโมง” (๑๐.๐๐ น.) “ฉันทำงานตั้งแต่แปดโมง”  (๐๘.๐๐ น.) “โมงกว่าแล้วยังไม่ไปโรงเรียนอีกหรือลูก” (ประมาณ ๗ นาฬิกากว่า ๆ ) ๒ ประโยคแรกเป็นการเรียกเวลาที่ไม่ถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่กลับเข้าใจ ส่วนประโยคหลังสุดนั้น ผู้พูดเรียกเวลาตามแบบไทยได้ถูกต้องที่สุด  ทั้งนี้เพราะ คนไทยสมัยก่อนใช้การตีฆ้องและตีกลองเพื่อเป็นสัญญาณบอกเวลา คำ โมง จึงเป็นคำที่เลียนเสียงฆ้อง ส่วนคำ ทุ่ม เลียนมาจากเสียงกลองนั่นเอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  ได้อธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับเวลาของไทยไว้ดังนี้ค่ะ

          โมง หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๗ นาฬิกา ถึง ๑๑ นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยมเรียกว่า ๖ โมงเย็น หรือ ยํ่าคํ่า 

          ทุ่ม หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีสําหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม

          ตี หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา เรียกว่า ตี ๑ ถึง ตี ๖ แต่ตี ๖ นิยมเรียกว่า ยํ่ารุ่ง

          ดังนั้น  เวลา ๑๐ นาฬิกา (๑๐.๐๐ น.) จึงต้องเรียกว่า “๔ โมงเช้า” มิใช่ “๑๐ โมง”   เวลา ๘ นาฬิกา (๐๘.๐๐ น.) ต้องเรียกว่า “๒ โมงเช้า” มิใช่ “๘ โมง” ค่ะ  แต่ถ้าผู้อ่านองค์ความรู้ภาษาไทยจะนัดเวลากับเพื่อน ๆ ตามแบบพจนานุกรมฯ ควรมีการทำความเข้าใจให้ตรงกันซะก่อน   ผู้เขียนเองก็เกือบผิดนัดเพราะเรียกเวลาไม่ตรงกับเพื่อนมาแล้วค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ