“กระด้างภัณฑ์” “ละมุนภัณฑ์” “แท่งหรรษา”
ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน

          ราชบัณฑิตยสถานแจ้งให้สาธารณชนทราบว่า “กระด้างภัณฑ์” “ละมุนภัณฑ์” และ “แท่งหรรษา” ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน และศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องของ hardware คือ ๑. ส่วนเครื่อง  ๒. ส่วนอุปกรณ์  และทับศัพท์ว่า ฮาร์ดแวร์ software บัญญัติว่า ส่วนชุดคำสั่ง  และทับศัพท์ว่า ซอฟต์แวร์  ส่วนคำว่า joystick บัญญัติไว้ว่า ก้านควบคุม  ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้คำไทยที่บัญญัติขึ้นหรือใช้คำที่ทับศัพท์ไว้ก็ได้

          นางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า “จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยกลุ่มผู้ใช้ในสังคมออนไลน์ใช้แตกต่างกันนั้น ราชบัณฑิตยสถานในฐานะองค์การหลักทางภาษาของชาติ มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นใช้แทนคำจากภาษาต่างประเทศจำนวนมากในหลายสาขาวิชา ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมามีทั้งคำที่ประชาชนยอมรับนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น มลพิษ (pollution) โลกาภิวัตน์ (globalization) วีดิทัศน์ (video) ภาพลักษณ์ (image) ภาพพจน์ (figure of speech) แต่ก็ยังมีศัพท์บัญญัติที่ไม่ได้รับความนิยมหรือที่ไม่ติดตลาด เช่น คณิตกรณ์ (computer) อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการบัญญัติศัพท์แล้ว คนทั่วไปทราบว่าเป็นงานของราชบัณฑิตยสถาน ดังนั้น เมื่อมีผู้คิดคำว่า กระด้างภัณฑ์ ใช้แทนคำว่า  hardware  ละมุนภัณฑ์  ใช้แทนคำว่า  software และแท่งหรรษา ใช้แทนคำว่า joystick  คนทั่วไปจึงเข้าใจผิดว่าเป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน และนำไปใช้อ้างอิงกันอย่างไม่ถูกต้อง

          ราชบัณฑิตยสถานขอชี้แจงและยืนยันว่าคำ กระด้างภัณฑ์ ละมุนภัณฑ์  และ แท่งหรรษา ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องของ  hardware ใช้ว่า ๑. ส่วนเครื่อง  ๒. ส่วนอุปกรณ์ หรือใช้ทับศัพท์ว่า ฮาร์ดแวร์ ส่วน software บัญญัติว่า ส่วนชุดคำสั่ง หรือทับศัพท์ว่า ซอฟต์แวร์  และ joystick บัญญัติว่า ก้านควบคุม ซึ่งผู้ใช้จะเลือกใช้ศัพท์บัญญัติหรือทับศัพท์ก็ได้เช่นเดียวกับศัพท์ laptop computer ที่บัญญัติไว้ว่า คอมพิวเตอร์วางตัก หรือทับศัพท์ว่า แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเลือกใช้คำใดก็ได้  ทั้งนี้ การที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติคำภาษาไทยขึ้นใช้แทนคำภาษาต่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ นั้น หากศัพท์ที่บัญญัติขึ้นไม่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ศัพท์นั้นก็จะเลือนหายไปในที่สุด ซึ่งเป็นธรรมชาติของภาษา ราชบัณฑิตยสถานขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่สนใจร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานวิชาการของราชบัณฑิตยสถานตลอดมา”.