ศาสตราจารย์ (professor)

          ด้วยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์  เป็นประธานกรรมการ  ได้จัดทำชุดคำศาสตราจารย์ (professor) ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ตำแหน่งทางวิชาการให้ผู้สนใจสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

assistant professor   ผู้ช่วยศาสตราจารย์  :  ตำแหน่งทางวิชาการของบุคคลซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอาจารย์ แต่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ แต่งตั้งโดยสภาสถาบัน พิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผลงานทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ใช้อักษรย่อว่า ผศ.

associate professor   รองศาสตราจารย์  :  ตำแหน่งทางวิชาการของบุคคลซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ แต่งตั้งโดยสภาสถาบัน พิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผลงานทางวิชาการ รองศาสตราจารย์ใช้อักษรย่อว่า รศ.

adjunct professor  ศาสตราจารย์วุฒิคุณ  :  ตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติการสอน วิจัย หรือเป็นที่ปรึกษางานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  โดยทำงานไม่เต็มเวลา

          มหาวิทยาลัยบางแห่งในต่างประเทศอาจแต่งตั้งอาจารย์ประจำของภาควิชาหนึ่งที่ไปช่วยสอนบางเวลาในอีกภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณก็ได้ เช่น รองศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และศาสตราจารย์วุฒิคุณทางเคมี  (Associate Professor of Physics and Adjunct Professor of Chemistry)

chair professor  ศาสตรเมธาจารย์ ศาสตราจารย์อาวุโส  : 
          ๑. ตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดและเป็นนักวิชาการอาวุโสของมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา (departmental chair)
          ๒. ตำแหน่งเกียรติยศเพื่อเป็นการยกย่องศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำในมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำทางวิชาการในระดับนานาชาติและได้แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าเป็นผู้นำในการยกมาตรฐานของมหาวิทยาลัยในด้านการสอน การวิจัย และการบริการทางการศึกษา เช่น ศาสตรเมธาจารย์ทางฟิสิกส์หรือศาสตราจารย์อาวุโสทางฟิสิกส์  (Chair Professor of Physics)

          คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดตำแหน่ง “chair professor” และใช้ชื่อภาษาไทยว่า ศาสตราจารย์เกียรติยศ

clinical professor  ศาสตราจารย์คลินิก  :  ตำแหน่งทางวิชาการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคลากรฝ่ายเวชกรรมที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านการสอน การวิจัย การค้นคว้าทดลอง และวิธีบำบัดรักษาในภาคเวชปฏิบัติ ซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการ

          ตัวอย่าง กรณีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณสมบัติบางประการของศาสตราจารย์คลินิก คือจะต้องมีอายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป สอนและให้บริการทางวิชาการเป็นผลดีติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี มีคุณธรรมและประพฤติตามจรรยาบรรณของอาจารย์ มีภาระงานสอนและปฏิบัติการทางคลินิกตามข้อกำหนด มีผลการสอนระดับเชี่ยวชาญ มีเอกสารการสอนหรือสื่อการสอน อย่างน้อย ๑ หัวข้อในระดับดีมาก งานปฏิบัติการทางคลินิกที่ทำเป็นประจำในมหาวิทยาลัยเป็นผลดีมาก  ตำแหน่งศาสตราจารย์คลินิกใช้อักษรย่อว่า ศ. คลินิก

distinguished professor  ศาสตราจารย์พิศิษฐ์  :  ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ มีผลงานดีเด่น ประสบความสำเร็จในการค้นพบและการเรียนการสอน และเป็นผู้นำทางวิชาการของสาขาวิชานั้น ๆ ในระดับนานาชาติ เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าศาสตราจารย์ปรกติ ซึ่งเทียบได้กับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย  (university professor)  ในระบบอเมริกัน

distinguished  scholar  ศาสตราภิชาน  :  ตำแหน่งที่ไม่ใช่การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งมาทำงานในมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างพอเพียงจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือนักวิชาการที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็ได้ เป็นตำแหน่งที่กำหนดภารกิจชัดเจน มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและมีค่าตอบแทนของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน [มีความหมายเหมือนกับ named professor]

          กรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชานมีสิทธิใช้คำว่า “ศาสตราภิชานเงินทุน