เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ๕๘ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องบอลรูม ๒ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประชุมทางวิชาการกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด (focus group) เรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การทับศัพท์” เพื่อรับฟังความคิดเห็นนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อให้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษมีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้มากที่สุด ทำให้ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมากที่สุดของทุกประเทศทั่วโลกสำหรับใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกัน

ศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา และประธานกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ กล่าวว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ ทั้งประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย รวมทั้งสิ้น ๑๑ ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน มลายู รัสเซีย ญี่ปุ่น อาหรับ จีน และฮินดี และได้จัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดทำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้พิมพ์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๕๓ หน้า ๔๓๙ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๒
ในปี ๒๕๕๒ คณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษจนแล้วเสร็จโดยปรับปรุงให้ทับศัพท์ได้ใกล้เคียงกับเสียงในภาษาอังกฤษมากขึ้น และได้ส่งร่างเวียนขอข้อคิดเห็นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ามีผู้สงสัยและไม่เข้าใจหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ปรับปรุงใหม่เป็นจำนวนมาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์พิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง บัดนี้ คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงเห็นควรให้จัดประชุมทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสภา โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) และนักวิชาการในกรุงเทพมหานครเกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดเห็นนอกเหนือไปจากการส่งร่างเวียนขอข้อคิดเห็นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษมีความสมบูรณ์ สามารถนำไปใช้ในการทำกิจการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ในงานมีการบรรยายเรื่อง “หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา” การอภิปรายเรื่อง “ความเป็นมาและขั้นตอนในการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ” และอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยวิทยากร คือ ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ, นางเพ็ญแข คุณาเจริญ, รศ. ดร.นันทนา รณเกียรติ และนางดอริส วิบุลศิลป์ ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.ชลธิชา สุดมุข.