สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” คือ แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว พร้อมให้ดาวน์โหลดวันนี้ในระบบ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile

1

2

นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงความสำคัญของ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และ อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญ เพราะได้ประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยกว่า ๔๓,๐๐๐ คำ พร้อมให้คำอ่าน ความหมาย ตลอดจนที่มาของคำ และเป็นพจนานุกรมที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบตัวสะกด กำหนดให้หนังสือราชการ และการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนใช้ตัวสะกดตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกันไม่ลักลั่น ส่วน อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสือที่รวบรวมคำภาษาไทยที่
มักมีผู้อ่านผิดและเขียนผิดโดยให้คำอ่านอย่างถูกต้องและคำที่เขียนอย่างถูกต้อง และได้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียนที่ควรรู้ ได้แก่ การอ่านคำวิสามานยนาม เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางตระกูล การอ่านตัวเลข การอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ การอ่านพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การอ่านชื่อจังหวัด เขต อำเภอ แขวง ตำบล (เฉพาะบางจังหวัด) ที่พบว่ามักอ่านไม่ถูกต้อง ส่วนการเขียนได้เพิ่มเติมคำวิสามานยนามที่เป็นชื่อแขวง ถนน ตรอก ซอย ทางแยก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักเขียนผิด เพื่อให้เขียนกันได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มชื่อธาตุพร้อมสัญลักษณ์เรียงตามลำดับของเลขเชิงอะตอมไว้ด้วย

สำนักงานราชบัณฑิตยสถาเห็นว่าหนังสือทั้ง ๒ เล่ม มีความสำคัญและมีประโยชน์แก่ประชาชน และมีผู้ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงจากหนังสือ ๒ เล่มดังกล่าวเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด ประกอบกับผลจากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่องานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พบว่าปัจจุบันประชาชนมีความต้องการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในรูปแบบโปรแกรมประยุกต์ (application) สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้นำข้อมูลจากหนังสือทั้ง ๒ เล่ม มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟน (smart phone) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาคาดหวังว่า “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนไทยใช้เป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ทางด้านภาษาไทย อันนำไปสู่การใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องต่อไป

3

3-1

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ว่า นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของเนคเทคที่ได้นำผลงานการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาพัฒนาแอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ได้ประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยกว่า ๔๓,๐๐๐ คำ การแสดงผลการใช้งานมี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบหมวดอักษร และ รูปแบบการค้นคำ ผู้ใช้สามารถค้นคำได้ทั้งจากตัวอักษรตั้งต้นและจากส่วนหนึ่งของคำ ทั้งยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้ด้วย ส่วนแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ ๒ หมวด คือ (๑) “หมวดอ่านอย่างไร” เพื่อทราบคำอ่านที่ถูกต้องและ (๒) “หมวดเขียนอย่างไร” โดยพิมพ์คำที่ต้องการทราบคำอ่านหรือการสะกดคำลงไป แม้ว่าผู้ใช้สะกดคำผิด แอปพลิเคชันนี้ก็แนะนำการสะกดคำที่ถูกต้องให้ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้เช่นเดียวกัน แอปพลิเคชันทั้ง ๒ โปรแกรมนี้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile

เนคเทคได้มุ่งพัฒนางานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาอย่างต่อเนื่อง และใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้พัฒนาพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอน (Lexitron) สำเร็จ โดยนำเทคโนโลยีคลังข้อมูลภาษามาพัฒนาเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ ซึ่งมีรูปแบบหลัก ๕ รูปแบบ ได้แก่
๑. รูปแบบฐานข้อมูลพจนานุกรม (LEXiTRON Database)
๒. รูปแบบออนไลน์ที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต (LEXiTRON Online)
๓. รูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (LEXiTRON Application)
๔. รูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่ติดตั้งบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน (LEXiTRON Mobile Application)
๕. รูปแบบแพลตฟอร์มพจนานุกรม (LEXiTRON Platform)

พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอนได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ย ๘๐,๐๐๐ คนต่อวัน (นับตามจำนวน Unique Internet Protocol) พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์เล็กซิตรอนนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางภาษาได้ง่าย ช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้ด้วยระบบแนะนำคำศัพท์ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานซึ่งเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมรายการคำที่น่าสนใจ รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการวิจัยด้านวิศวกรรมภาษา ภาษาศาสตร์เชิงคำนวณ และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ อีกด้วย

4

5

6

7

8

9

10

11

12
การร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประยุกต์ใช้งานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการให้บริการความรู้สู่ประชาชน ซึ่งตรงกับเป้าหมายหนึ่งในการนำเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยมุ่งการสร้างสมดุลของการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมที่นำไปสู่การเติบโตแบบแบ่งปันทั่วถึง (inclusive growth) และเป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายความรู้ให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกตามยุคสมัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เนคเทค
โทร. ๐ ๒๕๖๔ ๖๙๐๐