1

2

3

วันนี้ (๓ ก.พ. ๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ได้แถลงข่าวเรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาโรคลูคีเมียเฉียบพลัน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชนได้รับทราบ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล แพทย์ผู้มีประสบการณ์และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์ต้นกำเนิดบำบัด มายาวนานกว่า ๓๐ ปี ได้แถลงข่าวพร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ อดุลพันธุ์ นายกราชบัณฑิตยสภา นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และนางสาวสุปัญญา ชมจินดา โฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล กล่าวว่า โรคลูคีเมียหรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่มีความผิดปกติของตัวอ่อนเม็ดเลือดขาว (WBC precursors) โดยมีการเพิ่มจำนวนอย่างไร้ขีดจำกัด (uncontrolled proliferation) โรคลูคีเมียแบ่งเป็นสองชนิดคือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลัน เซลล์ลูคีเมียจะไม่มีการเจริญเติบโตเป็นเซลล์ระยะถัดไป ทำให้มีเซลล์ลูคีเมียจำนวนมากอยู่ในไขกระดูก มีผลให้จำนวนเม็ดเลือดทั้งสามชนิดลดน้อยลง ทำให้มีอาการซีด จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ สำหรับชนิดเรื้อรัง เซลล์ลูคีเมียจะมีการเจริญเติบโตเป็นเซลล์ระยะถัดไปได้ ทำให้ผู้ป่วยมีเซลล์ลูคีเมียจำนวนมากในเลือด อาจมีตับและม้ามโตได้

โรคลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการที่เกิดจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้น้อยลง หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการมาก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากโรคติดเชื้อและเลือดออกผิดปกติ การรักษาโรคลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน คือการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำให้โรคสงบ (Induction of complete remission) เมื่อโรคสงบแล้ว การรักษาต่อไปคือการป้องกันไม่ให้โรคกลับมาใหม่ ซึ่งทำได้โดยการให้ยาเคมีบำบัด (Post remission chemotherapy) หรือการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด สามารถรักษาโรคลูคีเมียเฉียบพลันให้หายขาดได้ โดยเป็นผลจากยาเคมีบำบัดขนาดสูง และเป็นผลของเซลล์เม็ดเลือดของผู้ให้ซึ่งจะไปทำลายเซลล์ลูคีเมียที่เหลืออยู่ในตัวผู้ป่วย เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดชนิดที่ดีที่สุดได้จากพี่น้องที่มีสารก่อภูมิต้านทานเซลล์เม็ดเลือดขาวในคน (Human leukocyte antigen: HLA) เหมือนกันกับผู้ป่วย ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด ในทางปฏิบัติ พี่น้องจะมีโอกาสที่จะมี HLA เหมือนกันกับผู้ป่วยเพียงร้อยละ ๒๕ ต่อมาในปัจจุบัน จึงมีการรณรงค์ให้มีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยผู้ที่ประสงค์จะบริจาคแจ้งความจำนงได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งจะมีการตรวจ HLA ไว้ เมื่อมีผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ที่จะต้องหาผู้บริจาคที่เหมาะสม ก็สามารถค้นหาได้จากผู้ที่แจ้งความจำนงไว้ ขณะนี้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีผู้ประสงค์จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ คน โอกาสที่จะค้นหาผู้ให้ที่มี HLA เหมือนกัน มีประมาณ ๑ : ๑๐,๐๐๐

ในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จากผู้ให้ที่มี HLA เหมือนกันเพียงครึ่งหนึ่ง อาจเป็นบิดา มารดา บุตร หรือพี่น้อง ทำให้ในปัจจุบัน สามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ในผู้ป่วยทุกราย การรักษาประสบความสำเร็จและผลการรักษาดีพอ ๆ กับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้ให้ซึ่งเป็นพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน

4

5

6

7

8

9