IMG_3759

IMG_3774

IMG_3776

IMG_3796

IMG_3838
วันนี้ (๒ มีนาคม ๒๕๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการแถลงข่าวราชบัณฑิตให้ความรู้เรื่อง “รับมือภัยแล้ง ๒๕๕๙” โดย ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สาขาวิชาระบบโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (ธรณีวิทยา/สมุทรศาสตร์) สำนักวิทยาศาสตร์ และ ศ. ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาประมง สำนักวิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว ณ โถงชั้น ๑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล กล่าวว่า “ภาวะภัยแล้งปี ๒๕๕๙ เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและการบริหารจัดการน้ำของประเทศตั้งแต่ ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๙ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนและรัฐบาลกลัวจะเกิดน้ำท่วมซ้ำในปี ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ สภาพความกลัวน้ำท่วมจะเกิดซ้ำ ทำให้ปี ๒๕๕๕ มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระดับควบคุมน้ำในเขื่อนใหญ่ (Rule Curve) ไม่ให้เกินร้อยละ ๔๕-๕๕ (เดือนพฤษภาคม) นโยบายประชานิยมปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ “การประกันราคาข้าวทุกเมล็ด ๑๕,๐๐๐ บาท” ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลางมีการปลูกข้าวนาปรังมากกว่า ๗ ล้านไร่ ปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ “แล้งแห่งความทรงจำ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
สาเหตุที่แท้จริงของวิกฤติภัยแล้งปี ๒๕๕๙ คือ น้ำต้นทุนต่ำที่สุดในรอบ ๑๐ ปี โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้การได้ ๖,๗๗๗ ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายงดการปลูกข้าวนาปรังสำรับฤดูแล้งปี ๒๕๕๙ แต่พบว่าวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีการปลูกข้าวนาปรังกว่า ๓ ล้านไร่ ในเขตลุ่มเจ้าพระยา (รวมพื้นที่นอกเขตชลประทาน) ประกอบกับมีปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๙ ส่งผลให้ฤดูฝนปี ๒๕๕๘ เกิดฝนตกช้าประมาณ ๒ เดือน และฝนตกน้อยกว่าค่าปรกติร้อยละ ๘-๒๔ ทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำไม่ได้จังหวะของธรรมชาติ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา จนก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูฝนปี ๒๕๕๘
IMG_3814

IMG_3819

IMG_3824

IMG_3828

IMG_3867

IMG_3875

IMG_3876
ส่วนปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงและความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนในหน้าแล้งของปี ๒๕๕๙ มีดังนี้
๑. สภาพภัยแล้งทั้งประเทศ ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ทั่วประเทศสำหรับหน้าแล้งปี ๒๕๕๙ (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘) ทั้งสิ้น ๑๕,๕๕๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีน้อยกว่าแล้งปี ๒๕๕๘ ประมาณร้อยละ ๕.๗๑ (ปี ๒๕๕๘ มี ๑๖,๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีแหล่งน้ำหลักภาคต่าง ๆ ดังนี้ : ภาคเหนือ ๓,๐๔๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒,๕๐๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง ๕๒๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก ๔,๐๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคใต้ ๔,๕๔๘ ล้านลูกบาศก์เมตร การจัดสรรน้ำทั้งประเทศทั้งสิ้น ๑๑,๔๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร (รักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ ๕,๔๘๗ ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๔๘) การเกษตร ๓,๕๖๔ ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๓๑.๒) เพื่อการอุปโภคบริโภค ๒,๑๗๓ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๑๙) และอุตสาหกรรม ๑๙๖ ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๑.๘) และปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออีก ๔,๑๓๙ ล้านลูกบาศก์เมตร จะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในช่วงต้นฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำและแย่งชิงน้ำอย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ๒๕๕๙ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออก มีปัญหาน้อยเนื่องจากปัญหานักท่องเที่ยวมีน้อยลงมาก
๒.สภาพภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ในลุ่มจ้าพระยาสำหรับหน้าแล้งปี ๒๕๕๙ (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘) ทั้งสิ้น ๔,๖๔๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีน้อยกว่าแล้งปี ๒๕๕๘ ประมาณร้อยละ ๓๑.๕ (ปี ๒๕๕๘ มี ๖,๗๗๗ ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีแหล่งน้ำหลักภาคต่าง ๆ ดังนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ๓,๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก และเขื่อนป่าสัก ๑,๐๐๗ ล้านลูกบาศก์เมตร ผันจากลุ่มน้ำแม่กลอง ๔๐๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร การจัดสรรน้ำทั้งประเทศทั้งสิ้น ๓,๓๐๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (รักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ ๑,๗๘๕ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๕๔) การเกษตร ๔๐๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๑๒) อุปโภค-บริโภค ๑,๑๐๐ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๓๓) และอุตสาหกรรม ๑๕ ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ ๐.๕) และปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออีก ๑,๓๔๗ ล้านลูกบาศก์เมตร จะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในช่วงต้นฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำและแย่งชิงน้ำอย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ๒๕๕๙ ในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา หากภาครัฐไม่สามารถควบคุมอย่างเข็มข้นตามเป้าที่วางไว้ คงกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้คนในเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะมีผลกระทบโดยเฉพาะถ้าฝนปี ๒๕๕๙ มาช้ากว่าปรกติ ๑-๒ เดือนจะกระทบหนักกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน”

สำหรับแนวทางรับมือปัญหาภัยแล้งปี ๒๕๕๙ ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ได้แนะแนวทางการรับมือปัญหาภัยแล้งว่า “ต้องเตรียมใจรับผลกระทบข้าวนาปรังมีความเสียหายอย่าน้อย ๑-๒ ล้านไร่ทั่วประเทศ เกษตรกรต้องปรับตัวรับภัยแล้งปี ๒๕๕๙ โดยเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ควรเตรียมหาแหล่งน้ำดิบสำรองไว้มากกว่า ๒ เดือน หาและพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินสำรองไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน และฝนปี ๒๕๕๙ มาช้ากว่าปรกติ/ผลิตน้ำประปาสำรองไว้มากขึ้น มีมาตรการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงภาวะไม่ปรกติของการใช้น้ำ เช่น ปรับน้ำประปาให้ไหลช้าลง ลดแรงดันน้ำ เพื่อประชาชนจะได้ประหยัดน้ำ ส่วนภาคประชาชน ทั้งคนในชนบทให้ความร่วมมือทำตามนโยบายภาครัฐในการใช้น้ำเพาะปลูก คนเมืองทุกภาคส่วนต้องช่วยกันประหยัดน้ำก่อนน้ำประปาจะหยุดไหล ควรสำรองน้ำประปาไว้ใช้อย่างน้ำ ๑ เดือนโดยเฉพาะภาคบริการ โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน ส่วนราชการ เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ ต้องระวังและควบคุมอย่างเข็มข้นให้แผนการใช้น้ำเป็นไปตามแผนและเป้าหมายของรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข็มข้นควบคุมสงครามแย่งชิงน้ำ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง รวมทั้งกำกับหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างเท่าทัน อย่าเชื่อตัวเลขหน่วยงานปฏิบัติมากเกินไป

IMG_3767

IMG_3770

IMG_3829

IMG_3831