IMG_5157

IMG_5126

IMG_5139

IMG_5160

IMG_5166

IMG_5170

IMG_5176

วันนี้ (๒๐ มิ.ย. ๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมชั้น ๓ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยย้ำเตือนให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงและรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมกันนี้ในเวลา ๑๑.๑๕ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการแถลงข่าวแนะนำหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก สืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีโครงการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ โดยรวบรวมตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาราชบัณฑิตยสภาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ทั้งนี้มี นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และ ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์ ทองบุญ ราชบัณฑิต ร่วมแถลงด้วย
IMG_5183

IMG_5217

IMG_5187

IMG_5198

IMG_5200

IMG_5218

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดแต่งขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมีพระราชดำริว่า ควรสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อเป็นยาบำรุงกำลังกาย กำลังใจให้เข้มแข็งต่อไป ปัจจุบันการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กยังคงดำเนินการอยู่โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้จัดประกวด ซึ่งผลงานที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับพระราชทานเนื่องในพระราชพิธีวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปี นับเป็นงานสำคัญงานหนึ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างมากในการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

IMG_5225

IMG_5226

IMG_5227
ก่อนหน้าที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเล่มแรก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือเรื่อง พุทธมามกะ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชทานเนื่องในงานวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๔๗๑ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวทรงระลึกถึงธรรมเนียมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มขึ้น คือการส่งบัตรแสดงความยินดีและให้พรในวันวิสาขบูชา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เคยประทานแจกของเล่นแก่เด็ก ๆ ในงานเดียวกันนี้ ซึ่งทรงเห็นว่า เป็นธรรมเนียมที่ดี พึงปฏิบัติตาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือพุทธมามกะพระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๑ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่ได้พระราชทานรางวัลที่ ๑ ในการประกวดปีแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ คือ เรื่อง “สาสนคุณ” พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัย ดิศกุล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำและโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒
ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์ ทองบุญ ในฐานะผู้เคยส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ติดต่อกัน ๓ ปี ได้แก่ เรื่อง “การสงเคราะห์บุตร” (พ.ศ. ๒๕๑๓) “การสงเคราะห์ภริยา” (พ.ศ. ๒๕๑๔) “การงานไม่อากูล” (พ.ศ. ๒๕๑๕) และในปี ๒๕๑๗ ก็ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ คือเรื่อง “ธรรมจริยา การประพฤติธรรม” กล่าวว่า “ในการเขียนหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก สิ่งสำคัญลำดับแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นคือ “วิธีแต่งที่เข้าใจง่าย” ราชบัณฑิตยสภาจึงกำหนดให้ยกธรรมขึ้นหมวดหนึ่งหรือข้อหนึ่งให้แต่งเข้าประกวด พระองค์มีพระราชดำริว่าปัญหาประการหนึ่งคือ ควรจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีหรือไม่ ซึ่งทรงเห็นว่า จำเป็นต้องใช้ เพราะจะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์เหล่านั้นด้วย ถ้าจะแปลออกเป็นไทยทั้งหมด ก็อาจจะเป็นการบกพร่องในการสอนได้ การสอนพระพุทธศาสนาจึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์ที่ใช้ในพระพุทธศาสนาให้ซึมซาบด้วย แต่ต้องอธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง แนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่อง ความสำคัญของเด็กที่มีต่อบ้านเมืองในอนาคตที่มีพระราชดำริว่า “การภายหน้าของประเทศย่อมอยู่ในมือของเด็กที่เรากำลังอบรมอยู่ในเวลานี้ ถ้าเราอบรมดี ให้อยู่ในศีลธรรมอันดี เราก็อาจมั่นใจในความเจริญ และความมั่นคงของประเทศในภายหน้า” และทรงเห็นว่า “ศาสนาเป็นยาบำรุงกำลังบำรุงน้ำใจ ให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนเป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย” จึงควรพยายามให้เด็ก ๆ มี “ยา” สำคัญ คือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลังเพราะ “ยา” อย่างนี้เป็นทั้ง “ยาบำรุงกำลัง” และ “ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด”

IMG_5234

IMG_5242

นายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ กล่าวว่า “นับแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๕๕๘ เป็นเวลากว่า ๘๖ ปีแล้วที่ได้มีการจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก และพิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาเพื่อสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การดำเนินการจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก มีคณะกรรมการเป็นผู้ตรวจทั้งในหลักธรรมและในเชิงวรรณคดีอีกชั้นหนึ่ง โดยจะคัดเลือกสำนวนที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เพื่อเสนอต่อราชเลขาธิการให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอรับพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์สำนวนที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เพื่อพระราชทานเนื่องในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา ผู้ชนะการประกวดจะเข้ารับพระราชทานรางวัลในพระราชพิธีวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังการตั้งเปรียญ
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาในฐานะที่เป็นหน่วยงานซึ่งดำเนินการจัดประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กต่อจากราชบัณฑิตยสภา ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพราะนอกจากจะเป็นการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งแก่เด็กไทยแล้ว ยังเป็นการรักษาหนังสือดี ๆ ที่เด็กควรได้อ่าน ดังนั้น เนื่องในโอกาส ๑๒๐ ปี พระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงได้จัดทำโครงการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาราชบัณฑิตยสภาขึ้น และเพื่อสืบสานงานในพระราชดำริ การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้พิมพ์ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๕๕๗ นับเป็นการรวบรวมหนังสือที่มีประวัติการพิมพ์สืบเนื่องยาวนานและเป็นหนังสือที่มีคุณค่าในการสืบสานพระพุทธศาสนา ที่สำคัญคือ เป็นหนังสือล้ำค่าที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๓ รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน”.