IMG_3272  IMG_0329 IMG_0415

วันนี้ (๒๑ ธ.ค. ๕๙) เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ หอประวัติ ชั้น ๑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา นางสาว กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานการแถลงข่าวแนะนำแอปพลิชันภาษาอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา และหนังสือศัพท์ภาษาอาเซียน พร้อมปากกาอัจฉริยะ ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างถูกต้อง เป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

IMG_0348 IMG_0371 IMG_0337

นางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ กล่าวว่า “อาเซียนประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๑๐ ประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางลักษณะภาษา เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ใช้ภาษาคนละตระกูลกัน ในการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารและแลกเปลี่ยนรู้ โดยเฉพาะการสื่อสารข้ามประเทศจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ภาษาควบคู่ไปด้วยมิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องตามกาลเทศะ

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดทำโครงการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้นเพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมการใช้ภาษาต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านอาเซียน และนำออกเผยแพร่ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์

ในช่วงแรก สำนักงานฯ ได้เน้นการใช้ภาษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการใช้ภาษา ดังนั้นจึงได้จัดทำเนื้อหาเป็นบทวิทยุและออกอากาศรายการ ‘เพลินภาษาในอาเซียน’ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยติดต่อให้เจ้าของภาษาไปร่วมรายการและออกเสียงคำเพื่อผู้ฟังจะได้ฟังเสียงที่ถูกต้อง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นจำนวนมาก

ส่วนในด้านสิ่งพิมพ์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘เพลินภาษาเพื่อนอาเซียน’ ๒ ครั้ง โดยจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนาทางวิชาการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน ปรากฏว่าหนังสือหมดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็เผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ด้วย สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘เพลินภาษาเพื่อนอาเซียน’ ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๘ แจกจ่ายแก่สถานศึกษาและประชาชนผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน’ ออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภายังได้จัดทำโปรแกรมประยุกต์ (application) คำศัพท์ความรู้ทั่วไปของภาษาต่าง ๆ ในอาเซียนทั้ง ๑๐ ภาษา ได้แก่ ภาษามลายูบรูไน ภาษาเขมร ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาลาว ภาษามาเลเซีย ภาษาพม่า ภาษาฟิลิปปินส์ ภาษาจีนกลางในสิงคโปร์ ภาษาไทย ภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางในอาเซียน ให้ใช้บนสมาร์ตโฟน (smart phone) ได้และมีเสียงอ่านคำศัพท์ด้วย โดยใช้ชื่อว่า แอปพลิเคชันภาษาอาเซียน และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีการเรียนการสอนอาเซียนศึกษาในระดับต่าง ๆ จึงได้ผลิตหนังสือศัพท์ภาษาอาเซียนน่ารู้ ฉบับราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นศัพท์ความรู้ทั่วไปของภาษาต่าง ๆ ในอาเซียนทั้ง ๑๐ ภาษา พร้อมเทียบศัพท์ภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นคู่มือให้นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไปไว้ค้นคว้าเป็นความรู้ประกอบการศึกษา หนังสือศัพท์ภาษาอาเซียนน่ารู้ ฉบับราชบัณฑิตย-สภานี้ใช้คู่กับปากกาอัจฉริยะพูดได้เพื่อให้ผู้ใช้ได้ฟังการออกเสียงคำจากเจ้าของภาษาต่าง ๆ ทำให้ได้เรียนรู้การออกเสียงคำที่ถูกต้องในภาษานั้น ๆ

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแอปพลิเคชันภาษาอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา และหนังสือศัพท์ภาษาอาเซียนน่ารู้ ฉบับราชบัณฑิตยสภา จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไปสำหรับใช้เป็นคู่มือในการเรียนรู้การออกเสียงคำในภาษาต่าง ๆ ของอาเซียนและภาษาอังกฤษ และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี และยังสามารถใช้อ้างอิงทางวิชาการได้อีกด้วย โดยสามารถดาวน์โหลดได้ใน Google Play และ App Store ค้นคำว่า ราชบัณฑิตยสภา, Royal Society หรือ ภาษาอาเซียน ก็สามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้และอ้างอิงในการใช้ภาษาต่าง ๆ ของประเทศในอาเซียนจากแอปพลิเคชันภาษาอาเซียน ฉบับราชบัณฑิตยสภาได้”.

IMG_0360 IMG_0375 IMG_0394 IMG_0404 IMG_0327 IMG_0333 IMG_0359