วันนี้ (๑๓ ก.ค. ๒๕๖๐) เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์  เมษินทรีย์) เป็นประธานแถลงข่าวแนะนำ “เว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสภา” ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์และความเสมอภาคทางการศึกษาของคนพิการทางการได้ยิน  ได้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนที่มีการได้ยิน

IMG_8104 IMG_8106 IMG_8112

นายสุวิทย์  เมษินทรีย์ แถลงว่า “อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๘ ที่สำคัญคือ ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่น ๆ การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้
แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งงานสำคัญของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาหรือเดิมคือราชบัณฑิตยสถานที่มีประวัติความเป็นมายาวนานคือการจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมที่ใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงของประเทศ

ต่อมา สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ขยายขอบข่ายงานให้ตอบสนองกลุ่มบุคคลทุกภาคส่วนในสังคมไทยรวมทั้งกลุ่มคนพิการ จึงมีแนวคิดในการจัดทำพจนานุกรมภาษามือไทยเพื่อคนพิการทางการได้ยิน เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา อีกทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการทางการได้ยินมีภาษามือไทยที่สร้างความเข้าใจตรงกันและนำไปใช้ในการสื่อสารทั้งในชีวิตประจำวัน การศึกษา และการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมภาษามือไทยเพื่อรับผิดชอบในการจัดทำ “พจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา” ซึ่งในระหว่างการจัดทำเนื้อหาวิชาการเพื่อบรรจุในพจนานุกรมดังกล่าว มีกระบวนการประชาพิจารณ์ ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ และ พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสังคมมาปรับใช้ในการดำเนินงาน

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้คำนึงถึงการจัดรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับกระบวนการรับรู้ของคนพิการทางการได้ยินและประโยชน์ในด้านการนำไปใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน  การนำเสนอเนื้อหามี คำศัพท์  ลักษณนามทั้งแบบแสดงท่ามือแต่ละแบบ ตัวอย่างประโยค ๔ แบบ ได้แก่ ประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม-คำตอบที่ ๑ ประโยคคำถาม-คำตอบที่ ๒ และประโยคคำสั่ง/ขอร้อง/ชักชวน/อื่น ๆ เมื่อเนื้อหาที่จัดทำได้ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์และผลิตเนื้อหาเพิ่มเติมแล้ว พจนานุกรมภาษามือไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสภา มีการนำเสนอและแสดงผล แบบสื่อประสม (multimedia) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ (๑) รูปภาพ (๒) อักษรไทย (๓) ภาษามือไทย และ (๔) เสียงประกอบ ทำให้พจนานุกรมภาษามือไทยเป็นประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ เป็นประโยชน์แก่คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางการเห็น และคนที่มีการได้ยิน (ล่ามภาษามือ ครูที่สอนในโรงเรียนโสตศึกษา/โรงเรียนที่มีคนพิการทางการได้ยินเรียนร่วม ครอบครัวของคนพิการทางการได้ยิน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทางการได้ยิน และผู้สนใจ)

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการไทย ในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้นำศัพท์จำนวน ๒๐๐ ศัพท์มาจัดทำพจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่สู่สังคมในลักษณะสื่อประสมบนเว็บไซต์ ใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า พจนานุกรมภาษามือไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ พร้อมกันนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำคู่มือการใช้เว็บไซต์ดังกล่าวเผยแพร่ให้หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทางการได้ยินด้วย”

 เว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสภา”  เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งจะสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนที่มีการได้ยิน.

IMG_8121 IMG_8131 IMG_8142 IMG_8152 IMG_8186 IMG_8196 IMG_8198 IMG_8201 IMG_8219 IMG_8223