วันอังคารที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

รศ.อัศนีย์  ชูอรุณ  ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง ความหมายของคำ masaic สรุปความได้ว่า คำจำกัดความของคำ mosaic ในพจนานุกรมศัพท์ศิลปะฉบับของไมเคิล  คลาร์ก (Michael  Clarke) ของเอียน  ชิลเวิร์ส (Ian  Chilvers) ของราล์ฟ  เมเยอร์ (Ralph  Mayer) รวมถึงในสารานุกรมอเมริกานา (Encyclopedia Americana) และสารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopaedia Britannica) ทำให้พอสรุปได้ว่า คำ mosaic มี ๒ ความหมาย คือ

๑. กลวิธีการทำภาพหรือลวดลายด้วยการจัดเรียงวัสดุชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมากลงในพื้นที่มีความเหนียวซึ่งเตรียมพื้นด้วยยางไม้ ปูนซีเมนต์ ปูนฉาบ หรือปูนกาว ตามปรกติจะเป็นวัสดุที่มีหลายสี ได้แก่ วัสดุจำพวกกระจก หิน หินอ่อน แร่ กระเบื้อง เปลือกหอย หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ ด้วย mosaic ใช้ทำผิวทางเดิน ประดับตกแต่งผนังและเพดาน และก็มีบ้างเหมือนกันที่ใช้ทำภาพหรือลวดลายที่หยิบถือ หรือพกพาได้ หรือใช้ฝังเลี่ยมผิวเครื่องเรือนและสิ่งของขนาดเล็ก

๒. ผลงานซึ่งเป็นภาพหรือลวดลายที่ทำขึ้นด้วยกลวิธีดังกล่าวนี้

จากคำจำกัดความของคำ mosaic ในพจนานุกรมศัพท์ศิลปะฉบับของคลาร์ก ของชิลเวิร์ส  ของเมเยอร์ รวมถึงในสารานุกรมอเมริกานา และในสารานุกรมบริแทนนิกา ทำให้น่าเชื่อได้ว่า คำจำกัดความของคำ โมเสก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔  ยังมีความไม่ถูกต้องหลายประการ ดังนี้

คำจำกัดความของคำ โมเสก ที่ว่า เรียกเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ สำหรับปูพื้นหรือบุผนัง เป็นคำจำกัดความที่ยังไม่ถูกต้อง เพราะ mosaic หมายถึง ๑) กลวิธีการนำวัสดุชิ้นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ มาจัดเรียงเป็นภาพหรือลวดลายบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น พื้นหรือผนัง ๒) ภาพหรือลวดลายที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีดังกล่าวนี้

คำ โมเสก ไม่ได้หมายถึงเฉพา เครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ เท่านั้น  แต่ยังหมายรวมถึงวัสดุอื่น ๆ ด้วย เช่น กระจก หิน  หินอ่อน แร่ กระเบื้อง เปลือกหอย หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม

ข้อความที่ว่าโมเสกใช้สำหรับปูพื้นหรือบุผนังก็ยังไม่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้ใช้สำหรับปูพื้นหรือบุผนัง  โดยทั่วไปใช้สำหรับทำผิวทางเดิน  ประดับตกแต่งผิวผนังและเพดาน  อีกทั้งที่ใช้ทำรูปภาพที่หยิบถือหรือพกพาได้ หรือใช้ฝังเลี่ยมผิวเครื่องเรือนและสิ่งของขนาดเล็กก็มีบ้างเหมือนกัน

ข้อความในคำจำกัดความของคำ โมเสก ที่ว่า เรียกเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ สำหรับปูพื้นหรือบุผนัง ยังมีอีกประการหนึ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะการปูพื้นหรือบุผนังไม่ถือเป็นงาน โมเสก เนื่องจากการปูพื้นปรกติทำด้วยวัสดุแข็งที่มีขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ และการบุผนังก็ทำด้วยวัสดุบาง ๆ ที่มีขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ การปูพื้นหรือบุผนังจะไม่ทำด้วยเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ

คำจำกัดความของคำ โมเสก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ว่า เรียกเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ สำหรับปูพื้นหรือบุผนัง  ไม่ใช่คำจำกัดความของคำ mosaic แต่เป็นคำจำกัดความของคำ tesserae ซึ่งหมายถึง วัสดุชิ้นเล็ก ๆ มีหลายสี และมีขนาดพอ ๆ กัน สำหรับใช้จัดเรียงลงในพื้นที่มีความเหนียวซึ่งเตรียมพื้นด้วยยางไม้ ปูนซีเมนต์ ปูนฉาบ หรือปูนกาว ได้แก่ วัสดุจำพวกกระจก หิน  หินอ่อน แร่ กระเบื้อง เปลือกหอย หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม  ซึ่งอาจรวมถึงเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ ด้วย

คำจำกัดความของคำ โมเสก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงเป็นที่น่าเชื่อว่ายังไม่ถูกต้องตามความหมายของคำ mosaic ควรจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง  โดยที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการทั่วไป ไม่จำเป็นต้องแสดงคำจำกัดความที่ละเอียดมากอย่างที่ปรากฏในพจนานุกรมศัพท์ศิลปะ  จึงอาจใช้ว่า “โมเสก น. เรียกกลวิธีการนำเครื่องเคลือบดินเผาแผ่นเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ เป็นต้น มาจัดเรียงเป็นภาพหรือลวดลายบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น พื้นหรือผนัง; เรียกภาพหรือลวดลายที่ทำขึ้นด้วยกลวิธีดังกล่าวนี้ (อ. mosaic).

นอกจากคำ โมเสก แล้ว ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ยังมีคำอื่นอีกมากที่เป็นคำทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ  สมควรที่ผู้รู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้ศึกษาและตรวจสอบกับความหมายของคำศัพท์เดิม  หากพบความไม่ถูกต้องจะได้ทำการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการที่มีความถูกต้องและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเป็นสำคัญ

นายสนั่น  รัตนะ  ภาคีสมาชิก  บรรยายเรื่อง งานเครื่องรักอาเซียน สรุปความได้ว่า งานเครื่องรักอาเซียนเป็นงานศิลปกรรมของกลุ่มคนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ยางรัก คือ ยางของต้นรักเป็นวัสดุหลักสำคัญในการสร้างผลงาน แต่ละชาติมีจุดหมายการสร้างที่คล้ายคลึงกันคือ ทั้งที่มุ่งถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ลักษณะเป็นงานศิลปะพื้นบ้านหรือหัตถกรรม อีกประการหนึ่งมุ่งถือความงามเป็นหลัก  จัดเป็นงานหัตถศิลป์ ประณีตศิลป์ ส่วนรูปแบบของการสร้างงานมีวิธีการต่าง ๆ ลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งจะมีลักษณะเฉพาะที่แสดงจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติในประเทศไทย เรียกชื่อตามเทคนิควิธีการสร้าง  งานต่าง ๆ ดังนี้ เครื่องเขิน งานลงรักปิดทองเนื้อเกลี้ยง งานลงรักประดับกระจก งานลงรักประดับมุก ลายรดน้ำ  งานรักสีหรือลายกำมะลอ งานลงรักปิดทองลายฉลุ งานลงรักปิดทองล่องชาด งานลงรักปิดทองเครื่องศิราภรณ์และหัวโขน

 วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

รศ. ดร.ศานติ  ภักดีคำ  ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ‘มงคลบุรี’ เมืองเขมรส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สรุปความได้ว่า การศึกษาเรื่องเมืองมงคลบุรีในที่นี้ได้มาจากผลการศึกษาเอกสารโบราณภาษาเขมร และการอ่านแปลศิลาจารึกภาษาเขมรที่พบในประเทศกัมพูชา ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยและกัมพูชา เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของเมืองมงคลบุรี และพัฒนาการของเมืองมงคลบุรีที่เกี่ยวกับไทย เมืองมงคลบุรี (มงฺคลบุรี ออกเสียงว่า มงก็วลโบเร็ย) เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไทย-กัมพูชา ในสมัยรัชกาลที่ ๓  อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองมงคลบุรีเคยเป็นที่ตั้งของเมืองอยู่ก่อน ๒ เมือง คือ เมืองเพนียดและเมืองโตนด ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า เมืองเพนียดเป็นจุดร่วมหรือชุมทางที่สามารถแยกไปเมืองเสียมราบหรือเมืองพระตะบองได้ ส่วนเมืองโตนดเป็นเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำโตนดซึ่งเป็นจุดที่ใช้สำหรับลงเรือล่องลงไปยังเมืองพระตะบองได้  ต่อเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพในสงครามอานามสยามยุทธ์ ทำให้มีการย้ายศูนย์กลางของเมืองมาไว้ที่เมืองมงคลบุรี และเป็นเมืองที่พระองค์ด้วง (อฺนกพฺระองฺคฑวง) ปกครอง ก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (สมฺเฎจพฺระหริรกฺสรามาอิสฺราธิบตี) เมืองนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเมืองที่พระองค์ราชาวดี
(อฺนกพฺระองฺคราชาวตฺตี) ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร (สมฺเฎจพฺระนโรตฺตมบรมรามเทวาวตาร) ประสูติที่วังในเมืองนี้  เมืองมงคลบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไทยจึงยกเมืองนี้ให้กับฝรั่งเศสพร้อมกับเมืองอื่น ๆ ในมณฑลบูรพาเพื่อแลกกับจังหวัดตราด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (สมฺเฎจพฺระสีสุวตฺถิ์) ได้สร้างวัดขึ้น ดังปรากฏข้อความจารึกอักษรเขมร ภาษาเขมร ที่ผ้าทิพย์ของพระประธานภายในพระวิหาร (พระอุโบสถ) ของวัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนาราม (วตฺตหฺลวงสีสุวตฺถิ์รตนาราม) ซึ่งผู้เขียนแปลจากจารึกภาษาเขมรได้ความว่า “พระบาทสีสุวัตถิ์จอมจักรพงศ์บรมบพิตรเจ้าชีวีตทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระวิหารนี้ ได้อนุญาตให้พระครูปริยัติธรรมพร้อมด้วยญาติโยมทุกคนได้ยกพระวิหารในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะแม เอกศก ๑๒๘๑ พระศาสนาได้ ๒๔๖๒ สร้างพระพุทธรูปองค์ธม (ใหญ่) ในวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก ๑๒๘๓ พระศาสนาได้ ๒๔๖๔ ฯ พระวัสสาฯ

รศ.กรรณิการ์  วิมลเกษม  ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง จารึกอักษรฝักขามของเชียงตุง สรุปความได้ว่าการศึกษาอักขรวิทยาของอักษรฝักขามในจารึกที่พบในเมืองเชียงตุงและเมืองใกล้เคียงที่เคยอยู่ในอาณาเขตของรัฐเชียงตุงในอดีตในครั้งนี้ ใช้ข้อมูลจารึกจำนวน ๑๕ หลัก มีอายุตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๙๔-พ.ศ. ๒๑๗๔

ผลการศึกษาด้านอักขรวิทยาของอักษรฝักขามในจารึกเชียงตุงพบว่า เชียงตุงรับอักษรฝักขามจากล้านนาผ่านการรับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ อักษรฝักขามในจารึกเชียงตุงมีลักษณะอักษร มีส่วนประกอบของตัวอักษร ๔ ส่วน คือ พยัญชนะ ๓๔ รูป สระ ๒๐ รูป ตัวเลข ๑๐ ตัว และรูปเครื่องหมาย ๔ ประเภท รวมทั้งมีอักขรวิธีและมีพัฒนาการของตัวอักษรโดยรวมเช่นเดียวกับตัวอักษรฝักขามที่ใช้ในอาณาจักรล้านนาในช่วงเวลาเดียวกัน ยกเว้นมีเพียงรูปตัวเลข ๑ อีกรูปแบบหนึ่ง และการเขียนคำแบบพิเศษ ๒ คำ คือ คำว่า พญา และคำว่า แก่ ที่พบใช้ในจารึกเชียงตุงเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากตำนานมูลศาสนา ฉบับวัดป่าแดง ที่กล่าวถึงการไปศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์จากเชียงตุงในสมัยพระเจ้ากือนา และจากเนื้อหาของจารึกวัดป่าแดงที่กล่าวว่าพระเขมมงคลเถรได้มาศึกษาพระพุทธศาสนาในเชียงใหม่ และผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นอีกด้วยว่าตลอดระยะเวลา ๑๘๐ ปีนั้น ทางล้านนาและเขียงตุงมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงของรูปอักษรและอักขรวิธีในจารึกอักษรฝักขามของเชียงตุงเหมือนกับทางล้านนา

นอกจากนี้ ยังพบการใช้ตัวอักษรธรรมบางตัวปนกับอักษรฝักขามมาตั้งแต่ในจารึกวัดป่าแดง พ.ศ. ๑๙๙๔ ที่พบการใช้ตัวเชิง ร และเขียนคำว่า จัก แบบตัวธรรม เป็น จั และการใช้ตัวเชิง ในวัดบัวงามด้าน ๑ พ.ศ. ๑๙๙๕ อันแสดงให้เห็นว่าคนไทเขินใช้อักษรธรรมกันอย่างแพร่หลายมาก่อนที่จะใช้ตัวอักษรฝักขาม จึงนำเอารูปอักษรธรรมมาใช้ร่วมกับตัวอักษรฝักขามได้อย่างดี และพบการใช้ตัวเลข ๗ แบบเลขโหราที่พบใช้ในจารึกเวียงเชียงเหล็กตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๑๐ เป็นต้นมา ร่วมกับการใช้ตัวเชิงของตัวอักษรธรรมอีกหลายตัวนั้นยิ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของตัวอักษรธรรมที่มีต่ออักขรวิธีอักษรฝักขามในจารึกเชียงตุงมากขึ้น