วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

รศ. ดร.สุรพล  ราชภัณฑารักษ์ ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง การปฏิรูปกับนักการเมืองไทย สรุปความได้ว่า การปฏิรูป หมายถึง การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนรูป การปรับปรุง การแก้ไขใหม่ ถือเป็นรูปแบบและวิธีการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเป็นทางเลือกที่อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบปฏิวัติซึ่งใช้ความรุนแรงได้  การปฏิรูปการเมืองการปกครองในสยามประเทศเริ่มขึ้นสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งมีระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา เป็นหลัก ส่วนในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๑ ได้มีการปฏิรูประบบจตุสดมภ์และขยายอำนาจจากส่วนกลางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) และสืบต่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ลัทธิล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีผลต่อการปรับนโยบายสำคัญของสยามที่มีต่ออังกฤษและฝรั่งเศส ทั้ง ๒ พระองค์จึงผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ โดยการเรียนรู้วัฒนธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจจากตะวันตก เช่น ยกเลิกวัฒนธรรมประเพณีเดิม ส่งเสริมให้ศึกษาภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยี ส่งนักเรียนออกไปศึกษายังยุโรปและสหรัฐอเมริกา  ผลจากการปฏิรูปการปกครองสยามใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทำให้มีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้รัชกาลที่ ๕ เป็นพระมหากษัตริย์สยามที่มีลักษณะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง

การปฏิรูปในความหมายปัจจุบัน หมายถึง การเปลี่ยนรูป การปรับปรุง การแก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางหรือวิธีการจัดการกับสภาวะที่เป็นอยู่ โดยใช้วิธีการที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที หรือการใช้กำลังบีบบังคับ แต่เป็นการใช้วิธีการทางจิตวิทยา คือสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้น ๆ ยอมรับและเข้าร่วมอย่างสมัครใจ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การปรับตัวและทัศนคติของส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การปฏิรูปทางการเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมามักมีการเปลี่ยนแปลงกติกาหลักทางการเมืองซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกติกาหลักโดยตรง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  ในกรณีของการปฏิรูปการเมืองไทย ซึ่งเน้นไปที่บุคลากรทางการเมืองโดยเฉพาะนักการเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอรูปแบบของกฎหมายพรรคการเมืองที่สภาปฏิรูปประเทศจะกำหนดไว้ในกฎหมาย  ทั้งนี้ เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบและกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของนักการเมือง เพื่อสร้างเสถียรภาพในทางการเมือง การบริหารให้มีความมั่นคงตลอดไป

  วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

นายอนันต์  อนันตกูล  ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง บทบาทของสหกรณ์กับการแก้ไขปัญหาความยากจน สรุปความได้ว่า สหกรณ์เป็นองค์การหรือสมาคมซึ่งตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของสมาชิกและยึดถือหลักประชาธิปไตยเป็นที่ตั้งในการดำเนินกิจธุระทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ของมวลสมาชิก  การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยได้นำรูปแบบสหกรณ์หาทุนแบบไรฟ์ไฟเซนของเยอรมนีเป็นต้นแบบการจัดตั้ง ใช้แหล่งทุนจากบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด และเพิ่มบทบัญญัติเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติสมาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ เพื่อใช้จดทะเบียนสหกรณ์ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๕๙  ทั้งนี้ สหกรณ์แห่งแรกได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ ชื่อ “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” ตั้งในท้องที่ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีสมาชิกแรกตั้ง ๑๖ คน ทุนดำเนินการระยะแรก ๓,๐๘๐ บาท

ปัจจุบันสหกรณ์มี ๗ ประเภท คือ ๑. สหกรณการเกษตร  ๒. สหกรณประมง  ๓. สหกรณนิคม  ๔. สหกรณร้านค้า  ๕. สหกรณบริการ  ๖. สหกรณ์ออมทรัพย์  ๗. สหกรณเครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ทุกประเภทมีวัตถุประสงค์สำคัญในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรทรัพยากรการผลิตเพื่อการดำรงอาชีพ การกระจายรายได้ ควบคู่กับการส่งเสริมการออมและการให้สินเชื่อ เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้อุปโภคบริโภค และลงทุนประกอบอาชีพให้มีความมั่นคง จึงถือว่าสหกรณ์มีบทบาทสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย และผู้ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพสามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้หลักการพึ่งพาตนเองและหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระบบการเงินของสหกรณ์สร้างพลังแห่งการร่วมมือกันของคนที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในวิถีสหกรณ์ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เพื่อวางแผนการผลิตในระดับมหภาคและจุลภาค พร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการลงทุน การสร้างอาชีพ การออม การศึกษา การให้บริการด้านต่าง ๆ และการพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกภายใต้บริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลง  การรวมกลุ่มของสมาชิกสหกรณ์และการจัดการธุรกิจของสหกรณ์ที่พึ่งทุนภายในของตนเองมากกว่าการพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาองค์กร ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ความยั่งยืนในรูปแบบการสหกรณ์ตามนโยบายและภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ

การสหกรณ์จึงเป็นกลไกหลักในการสร้างการร่วมมือ พัฒนาศักยภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่มสมาชิก กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ องค์กรต่าง ๆ ที่เป็นภาคีเครือข่ายในการวางแผนด้านธุรกิจเพื่อการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การขยายตลาด และเพิ่มรายได้อันจะนำประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิกส่วนรวมของสถาบันตามวิถีสหกรณ์  อย่างไรก็ดี จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์ไทย ประกอบกับบทบาทของสหกรณ์ต่อระบบเศรษฐกิจ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศพบว่า ภาคสหกรณ์ยังต้องสร้างระบบการเฝ้าระวังทางการเงินเป็นพิเศษ ควรกำหนดแนวทางควบคุมและบริหารจัดการให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเหมาะสมและสัมพันธ์กับรายได้ ควบคู่กับการสร้างเครื่องมือ กลยุทธ์ และรูปแบบวิธีการเพื่อสร้างระบบงานรองรับความเสี่ยงในด้านการดำเนินธุรกิจ พัฒนาองค์กร และแก้ปัญหาให้กับสมาชิกสหกรณ์ให้ได้รับประโยชน์ในทางที่เป็นไปได้ตามแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศในระยะยาวต่อไป

รศ.วนิดา  ขำเขียว ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง เอล็อง วีตัล (Élan vital) ของแบร์กซง (Bergson) : พลังทะยานแห่งชีวิตเพื่อวิวัฒนาการเชิงสร้างสรรค์ สรุปความได้ว่า    เอล็อง วีตัล มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “élan” มีความหมายว่า “พลังทะยาน” และ “vital” มีความหมายว่า “ชีวิต” รวมความแล้วคือ พลังทะยานแห่งชีวิตที่มีในทุกชีวิตและคอยผลักดันทุกชีวิตให้ก้าวทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดกาลนาน ซึ่งการก้าวทะยานไปนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ จึงทำให้ชีวิตมีการพัฒนารูปแบบที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

เอล็อง วีตัล เป็นแนวคิดของอ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่เชื่อว่าความแท้จริงหรือความจริงสูงสุดที่หลายคนพยายามค้นหานั้นไม่ใช่สิ่งที่นิ่งอยู่กับที่ หากแต่ความแท้จริงคือการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง  โลกนี้จึงไม่มีอะไรมากำหนดอย่างสมบูรณ์ และวิวัฒนาการของโลกก็มิได้เป็นไปในเชิงจักรกลและมิได้เป็นไปตามกฎของฟิสิกส์ แต่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสร้างสรรค์เพราะมีเอล็อง วีตัลที่คอยผลักดันให้สภาพชีวิตมีวิวัฒนาการ และยิ่งวิวัฒนาการไปนานเท่าใด พลังนี้ก็จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาจากอดีตอย่างอิสรเสรี แต่อดีตและอนาคตมิใช่ตัวกำหนดการวิวัฒนาการของโลก ชีวิตทั้งหลายจึงเกิดมาจากธรรมชาติของมันเอง

แบร์กซงกล่าวถึงความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ การค้นคว้าทดลอง และการวิจัยว่าเป็นความรู้ที่ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ จึงได้แต่วิ่งวนไปรอบ ๆ ความรู้ที่ได้มานี้ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นเพียงความรู้ภายนอกที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญากับสสาร และขึ้นอยู่กับสาเหตุตลอดจนมุมมองของบุคคลซึ่งอาจทำให้ความจริงที่ได้มาบิดเบือนไป ความรู้แบบนี้ต้องอาศัยวิธีคิดแบบวิเคราะห์ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกความจริงออกเป็น
ส่วน ๆ แล้วใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์แทน ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้ทางสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดแก่ผู้อื่นได้ แต่ภาษาอาจเป็นอุปสรรคเพราะว่าภาษานั้นไม่สามารถแสดงความจริงแท้โดยตรง  แบร์กซงเชื่อว่ามีความรู้อีกประเภทหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับความรู้ในประเภทแรก คือความรู้ที่เข้าถึงความเป็นจริงโดยตรง ซึ่งเรียกว่า อัชฌัตติกญาณ (intuition) อันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการผ่านโครงสร้างของเหตุผล จึงไม่ถูกบังคับด้วยกรอบวิธีคิดแบบวิเคราะห์หรือสังเคราะห์และไม่ถูกจำกัดโดยขอบข่ายของการให้สัญลักษณ์  ความรู้ชนิดนี้เท่านั้นที่ให้ความเป็นจริงได้โดยตรงและการจะได้มาซึ่งความรู้นี้ต้องเกิดมาจากการฝึกฝนและการบากบั่นทางด้านสำนึก มนุษย์ทุกคนล้วนมีอัชฌัตติกญาณ จึงจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนต้องนำออกมาใช้เพื่อจะได้มีชีวิตแบบมนุษย์ ถ้าไม่มีการฝึกฝนอัชฌัตติกญาณแล้วสภาพจิตใจของมนุษย์จะตกต่ำ

ความจริงแท้ของแบร์กซงคือเอล็อง วีตัลซึ่งมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาและไม่มีการดำเนินตามกฎเกณฑ์ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อันมีผลต่อประสบการณ์ของมนุษย์ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง มีแต่จะก้าวสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  เอล็อง วีตัลเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนให้ทุกอย่างไม่นิ่งอยู่กับที่ การใช้ความรู้แบบวิธีวิเคราะห์ความจริงออกเป็นส่วน ๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่เคลื่อนไหวได้ แต่จะใช้ได้กับวัตถุหรือสสารเท่านั้น ความจริงที่ได้มาจากวิธีการคิดแบบวิเคราะห์นี้ทำได้แค่ขั้นใกล้เคียงหรือความน่าจะเป็นเท่านั้น แต่ความจริงที่ได้จากความรู้แบบอัชฌัตติกญาณเป็นความจริงเหนือมโนภาพทำให้คำพูดไม่สามารถสื่อถึงได้โดยตรง ถึงแม้ว่าจะมีการคิดคำแทนขึ้นมาแต่คำแทนเหล่านั้นไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรง อัชฌัตติกญาณจึงเป็นวิธีเดียวที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงอันสูงสุดและเป็นวิธีการที่ทำให้มนุษย์รู้ธรรมชาติภายใน