วันพุธ ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ศ.ดร. อรอนงค์ นัยวิกุล ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ข้าวคือชีวิต : ยังจริงอยู่หรือสำหรับเด็กไทย สรุปความได้ว่า ข้าวคือชีวิต หมายถึง ข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านานจากอดีต นำโดยพระมหากษัตริย์ในด้านการปกครองปวงประชาราษฎร์ให้อยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ทำนาปลูกข้าวเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตได้สืบทอดกันต่อๆมาตั้งแต่สมัยการสร้างบ้านเมืองยุคสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการปฏิรูปและพัฒนาแนวทางการผลิตข้าวใหม่ที่ส่งผลดี และเอื้อประโยชน์ต่อระบบการผลิตและการค้าข้าวของไทย และรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหากรุณาธิคุณต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย โดยทรงพระราชดำริและทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทกำลังพระวรกายในการปรับใช้ผลการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนา โดยรัฐบาลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าว” ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนับสนุนการทำนาปลูกข้าว ฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แนะนำให้บริโภคข้าวกล้องที่มีคุณค่าทางอาหาร และโภชนาการ อุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างสมดุล ด้วยการบริโภคข้าวเป็นหลักในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับกับข้าวที่หลากหลายในลักษณะที่เป็น น้ำพริก ปลาทู (ปลาย่าง) ผักจิ้ม แกง ต้ม โดยอาหารไทยแท้ส่วนมากไม่ประกอบด้วยการทอด หรืออาหารที่มีน้ำมันมากจนเกินไป

ด้วยความผูกพันกับการทำนาเป็นหลักของชาวไทย จึงประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต แม้ว่าในปัจจุบันจะกระทำกันน้อยลงแต่ก็ยังคงเห็นอยู่บ้างในท้องถิ่นที่ยังสามารถผูกโยงสังคมด้วยกิจกรรมเกี่ยวข้องกับข้าว ทำให้เกิดความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อของชุมชน

ในอีกความหมายของข้าวคือชีวิต ก็คือความสามารถในการนำข้าวไปขายยังต่างประเทศได้เงินตรากลับเข้ามาช่วยด้านเศรษฐกิจของประเทศมาช้านานแล้ว สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งประเทศได้ตราบจนทุกวันนี้

จากความเจริญก้าวหน้าของโลกทำให้การติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน โดยเฉพาะความห่วงใยในวัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าวจึงได้ทำการสำรวจเบื้องต้นจากเอกสาร บทสัมภาษณ์ และการทำแบบสอบถามเบื้องต้น ทำให้ทราบถึงพฤติกรรม และความรู้ ความเข้าใจของเด็กไทยเกี่ยวข้องกับข้าวว่า ยังคงรับรู้ และบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก บริโภคข้าวกล้องน้อย เพราะไม่คุ้นเคยจากทางบ้าน และเบื่อข้าวในบางครั้ง เพราะมีอาหารหลากหลายให้เลือก

แนวทางแก้ไข คือการให้ความรู้เรื่องข้าวสม่ำเสมอทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ปกครองเด็ก และตัวเด็กเอง เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ และคุณค่าของข้าว โดยเฉพาะข้าวกล้อง สำหรับผู้ผลิต และผู้แปรรูปข้าวก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว ให้มีความสะดวก รวดเร็ว น่าสนใจสำหรับเด็กไทยยุคปัจจุบันเช่นกัน

  วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหาร สรุปความได้ว่า อุตสาหกรรมอาหารมีความต้องการใช้น้ำและพลังงานเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมอาหารจึงมีฟุตพริ้นท์ของน้ำและของคาร์บอน (Water and carbon footprints) ที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม หากมีการเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม ตลอดจนมีการใช้กระบวนการแปรรูปขั้นสูงเพื่อช่วยในการผลิตอาหาร ก็อาจลดปริมาณฟุตพริ้นท์ต่าง ๆ เหล่านี้ลงได้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่มีการใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน ในที่นี้จะได้ยกตัวอย่างค่าฟุตพริ้นท์ของน้ำและของคาร์บอนในการผลิตอาหารชนิดต่าง ๆ ที่มีการบริโภคกันอยู่โดยทั่วไป จากนั้นจะได้นำเสนอตัวอย่างการใช้แมลงที่รับประทานได้ (Edible insects) เป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตอาหารที่มีโปรตีนสูง ตลอดจนการใช้กระบวนการทางเลือก (ซึ่งพัฒนาขึ้นทั้งจากการผสมผสานกระบวนการเดิมหลายกระบวนการเข้าด้วยกัน หรือจากการพัฒนากระบวนการขึ้นมาใหม่ทั้งหมด) ในการแปรรูปอาหาร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหาร โดยจะยกตัวอย่างการใช้กระบวนการอบแห้งโดยใช้ไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (Superheated steam drying) การใช้พลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการช่วยเร่งกระบวนการละลายน้ำแข็งในอาหารแช่แข็ง และการใช้อนุภาคน้ำแข็งแห้ง (Dry ice particles) ในการทำความสะอาดอุปกรณ์การแปรรูปอาหาร การใช้วัตถุดิบและกระบวนการทางเลือกต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างความยั่งยืน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในเชิงเศรษฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมดังกล่าว