วันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

นายจุลทัศน์  พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง ประติมากรรมปูนปั้นวัดไลย์ สรุปความได้ว่า วัดไลย์อยู่ที่ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นวัดโบราณ นัยว่ามีมาเมื่อสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้มีงานประติมากรรมปูนปั้นแบบไทยประเพณีติดที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเก่ากว่างานประติมากรรมประเภทเดียวกันที่อื่น  งานประติมากรรม ณ ศาสนสถานในวัดไลย์ ได้รับการปั้นประดับขึ้นไว้บนผนังด้านวิหารแห่งหนึ่ง แสดงเรื่องพระพุทธประวัติกับเรื่องทศชาติ ฝาผนังด้านหลังวิหารปั้นปูนแสดงเรื่องพระราชพิธีคเชนทรอัศวสนาน และยังมีลวดลายปูนปั้นตกแต่งประดับฝาผนังทั้งภายนอกและภายในวิหารสวยงามควรชม  งานประติมากรรมปูนปั้นติดที่ ณ ศาสนสถานแห่งนี้จัดเป็นแหล่งงานประติมากรรมแบบไทยประเพณี เมื่อสมัยอยุธยายังคงอยู่ต่อมาให้เห็นแบบฉบับการสร้างสรรค์และแสดงออกงานประติมากรรมซี่งมีสาระสำคัญ แก่การศึกษาศิลปกรรมโบราณ ประเภทศิลปะปูนปั้นแบบไทยประเพณีได้แห่งหนึ่ง

วัดไลย์ตั้งอยู่ ณ ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นวัดโบราณมาแต่สมัยอยุธยา ในวัดแห่งนี้มีงานประติมากรรมปูนปั้น ประเภทงานปูนปั้นติดที่ อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และเก่าแก่กว่างานปูนปั้นแห่ง
อื่น ๆ ในสมัยอยุธยา  นักวิชาการด้านศิลปะ นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ ช่างศิลป์ นักศึกษาสาขาศิลปะแบบไทยประเพณี และผู้ที่สนใจงานปูนปั้นโบราณ มักแวะเวียนไปเยี่ยมชมประติมากรรมปูนปั้นนั้นอยู่เนือง ๆ

ศาสนสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้และควรชมงานประติมากรรมปูนนั้น คือ อุโบสถหลังเก่า ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นวิหาร และยังใช้ทำศาสนกิจได้  วิหารเป็นสถาปัตยกรรมทรงโรง สร้างด้วยเครื่องก่ออิฐถือปูนด้านรวงแปหรือด้านข้าง ขนาด ๕ ห้อง ฝาผนังแต่ละห้องทำช่องแสงและระบายลมแนวตั้ง ห้องละ ๕ ช่อง ด้านหน้าและด้านหลังวิหารทำเป็นมุขโถงอย่างมุขเด็จ มีประตูทางเข้าออกข้างมุขโถงข้างละประตูหนึ่งหลังคาประธานวิหารทำลด ๒ ชั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันถือปูนพื้นเรียบ กรอบหน้าบันประกับด้วยเครื่องช่อฟ้า นาคสะดุ้ง ใบระกา และหางหงส์ประดับกระจก

ผศ. ดร.จิรพัฒน์  ประพันธ์วิทยา ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจากหลักฐานจารึกราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๑-๑๒ สรุปความได้ว่า จารึกที่ใช้ภาษาบาลีมุ่งเน้นที่จะสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าช่วงแรก ๆ โดยพยายามนำเสนอเหตุการณ์ช่วงต้น ๆ ภายหลังการตรัสรู้ของพระองค์ จนกระทั่งแสดงปฐมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสุตตะ จนพระโกณฑัญญะบรรลุธรรมเบื้องต้น จารึกทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบทฤษฎีอะไรเกี่ยวกับชีวิต ทฤษฎีนั้นก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่ามีความลึกซึ้งมากจึงทรงตั้งพระทัยที่จะประกาศสิ่งที่พระองค์ค้นพบให้คนอื่นทราบ เมื่อพระพรหมอาราธนา พระองค์จึงได้ตัดสินใจพิสูจน์ทฤษฎีของพระองค์กับปัญจวัคคีย์ซึ่งก็ทรงประสบความสำเร็จ เพราะโกณฑัญญะสามารถรู้ตามทฤษฎีของพระองค์ได้ จารึกภาษาบาลีทำให้ทราบถึงความสำคัญของพระธรรมจักรและสถูปในฐานะเป็นวัตถุเพื่อการเคารพบูชา ซึ่งเป็นการสืบทอดการปฏิบัติที่มีอยู่แล้วในพระพุทธศาสนายุคแรก ๆ จากหลักฐานที่เป็นภาพสลักที่สถูปสาญจีและภารหุต  จารึกที่ใช้ภาษาสันสกฤตแม้จะมีไม่แพร่หลาย แต่ก็ยังยึดถือความสำคัญของสถูปและพระพุทธรูป เพราะมักจะจารึกคาถา เย ธรฺมา ที่พระพุทธรูปและสถูป  การใช้ภาษาสันสกฤตในจารึกยังทำให้ทราบว่ามีนิกายสรรวาสติวาทินอยู่ร่วมกับนิกายสถวิรวาทที่ใช้ภาษาบาลี แต่ก็คงไม่มีอิทธิพลในภาคกลางของประเทศไทยมากนัก

ศ. ดร.วิรุณ  ตั้งเจริญ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง พุทธปฏิมากรแห่งยุคสมัย บำรุงศักดิ์  กองสุข สรุปความได้ว่า อาจารย์บำรุงศักดิ์  กองสุข พุทธปฏิมากรแห่งยุคสมัย ผู้รังสรรค์พระพุทธรูปที่วิจิตรประณีตงดงาม สะท้อนพุทธลักษณะแห่งผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน และพุทธธรรมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นเลิศยิ่งนัก  อาจารย์บำรุงศักดิ์  กองสุข เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๗ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ศึกษาศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง เคยรับราชการเป็นช่างศิลป์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินชีวิตพุทธศิลปินสืบมาจวบจนเสียชีวิต พุทธศักราช ๒๕๕๘

อาจารย์บำรุงศักดิ์  กองสุข ครองตนและมีวัตรปฏิบัติในพุทธธรรมประหนึ่งผู้ทรงศีล ผู้ทรงศีลที่สร้างสรรค์พระพุทธรูปอันวิจิตรประณีตงดงาม

สร้างสรรค์พระพุทธรูปและรูปจำลองพระอริยสงฆ์ไว้มากมาย เช่น พระพุทธภควาวิจิตร ประดิษฐาน ณ ห้องประทับในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  พระพุทธรูปปางประทานธรรม พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระมหาชนก มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา  พระพุทธรูปหินอ่อนปางปรินิพพาน วัดป่าภูก้อน อำเภอนกยูง จังหวัดอุดรธานี  พระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังสี) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา  รูปจำลองพระโพธิญาณเถระ “พระอาจารย์ชา   สุภัทโท” วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

 วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ผศ. ดร.มาโนช  กงกะนันทน์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง  มัณฑนศิลป์กับสังคม สรุปความได้ว่า

มัณฑนศิลป์เป็นศิลปะที่อยู่รอบและใกล้ตัว ได้เห็นกันอยู่เป็นประจำตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนตลอดวัน

คำอธิบายในภาษาอังกฤษ โดยศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ และแปลเป็นภาษาไทยโดยศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมและภาษาศาสตร์  “มัณฑนศิลป์” (Decorative Arts) คำนี้ หมายความถึงบรรดาผลิตกรรมศิลปะชนิดที่เรียกกันว่า จุลศิลป์ (Minor Arts) เช่น การทอผ้า เครื่องเยื่อใย งานช่างรัก ช่างถม ช่างปิดทองล่องชาด และงานช่างอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ถ้าศิลปะตกแต่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์การค้า ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นพานิชยศิลปะ แต่ถึงจะเรียกว่าเป็นพานิชยศิลป์ ก็ไม่เปลี่ยนความหมายไปจากที่เป็นศิลปะตกแต่งอย่างไรเลย

ยังมีคำว่า ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) อีกคำหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเป็นศิลปะตกแต่งด้วย เพราะเป็นศิลปะที่นำเอาไปใช้สำหรับวัตถุซึ่งเป็นของใช้ตามธรรมดา ตัวอย่าง รูปศิลปะบนกล่องบุหรี่หรือที่ด้ามช้อน ลวดลายและภาพบนถ้วยชาม ภายในสมุดหนังสือ แบบสร้างประตูรั้วเหล็กเหล่านี้ เป็นต้น  ล้วนเป็นประยุกต์ศิลป์ทั้งนั้น เพราะอย่างไร ๆ ก็เป็นศิลปะเพื่อเพิ่มความงามให้แก่วัตถุของใช้ตามธรรมดาอยู่นั่นเอง  เหตุนี้พานิชยศิลป์และประยุกต์ศิลป์จึงตรงกับศิลปะตกแต่ง

จากแผนภูมิข้างบนนี้ ข้าพเจ้าได้ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นคู่มือในการสอนระหว่างที่ยังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้าพเจ้าขอนำเสนอในเรื่องที่ ๑ คือ ตกแต่งสถานที่ของอาคารพักอาศัยเป็นอันดับแรก อันประกอบไปด้วยห้องรับรองแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำครัว ห้องน้ำ ห้องส้วม และห้องเก็บของ ห้องต่าง ๆ ดังกล่าวจะมีครุภัณฑ์ถูกจัดวางอยู่ตามความต้องการที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน ครุภัณฑ์หรือเครื่องเรือนเหล่านี้จะถูกออกแบบและจัดสร้างขึ้น (ในสมัยที่ยังไม่มีจำหน่ายและสำเร็จรูป พร้อมใช้งาน เมื่อประมาณ ๕๐ ปี ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐) เพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ตามต้องการ

ห้องรับรองแขก  มีเครื่องเรือน คือ เก้าอี้ชนิดที่มีหรือไม่มีที่เท้าแขน โต๊ะกลางเตี้ยสำหรับวาง
เครื่องดื่ม ในกรณีที่ห้องรับรองนี้มีขนาดใหญ่ อาจมีเครื่องเรือน เช่น เก้าอี้ชนิด
ที่ไม่มีพนัก (stool) เพิ่มขึ้น

ห้องรับประทานอาหาร    มีเครื่องเรือน คือ โต๊ะสำหรับตั้งอาหาร ขนาดสำหรับ ๔ คน หรือ ๖ คน
พร้อมเก้าอี้ ชนิดที่ไม่มีเท้าแขน ตามจำนวนที่ต้องการ (๔, ๖ หรือมากกว่านี้)

ห้องทำครัว        มีเครื่องเรือน คือ โต๊ะสูง (ประมาณ ๗๕ ซม.) สำหรับทำเครื่องอาหาร
เคาน์เตอร์ชนิดติดกับฝาผนัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเตา (ไฟฟ้า แก๊ส) อ่างล้างมือ
(sink) และตู้เก็บอาหาร (ชนิดตั้งกับพื้นหรือติดผนัง)

ห้องน้ำ-ห้องส้วม มีเครื่องเรือน คือ อ่างล้างหน้าพร้อมกับบานกระจกส่องหน้า โถส้วม และที่
อาบน้ำ (อาจเป็นห้องกระจก-พร้อมบานเปิด)

ห้องเก็บของ-สัมภาระ   ห้องนี้มีประโยชน์เพื่อใช้สำหรับเก็บสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ
นำมาใช้ (เครื่องทำความสะอาด ไม้กวาด ไม้ขนไก่ สำหรับทำความสะอาด
แปรง ฯลฯ)

นายวินัย  ภู่ระหงษ์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง บทสดุดีในนิพนธ์ยวนพ่าย : จดหมายเหตุความชอบธรรม สรุปความได้ว่า นิพนธ์ยวนพ่ายเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพร้อมด้วยชาติวุฒิและคุณวุฒิ ทรงมีพระชาติสมภพโดยเทพ ๑๑ องค์ เสด็จอุบัติในวงศ์กษัตริย์สืบเชื้อสายสุริยวงศ์ ๒ ฝ่าย ทรงพร้อมด้วยความีสิริและความมีอำนาจ ทรงรู้แจ้งและประพฤติในธรรมทั้งหลาย ทรงรอบรู้เรื่องโลกและจักรวาล ทรงชำนาญในธิรปอุปศาสตร์ และทรงชำนาญในการรบเยี่ยงเทพและวีรบุรุษ

พระเกียรติยศทั้งหลาย คือ เนื้อหาของความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ผู้นิพนธ์บันทึกไว้ให้คงอยู่ตลอดไป