วันพุธที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

               ศ. ดร.สิทธิ์  บุตรอินทร์  ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง มัชฌิมนิยมกับคตินิยมไทย สรุปความได้ว่ามัชฌิมนิยม หมายรวมถึง อารยวิถี ทางสายกลาง ความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรม ความยุติธรรม ความพอดี พอเพียง ไม่สุดโต่ง สมเหตุสมผล พอประมาณ ลงตัว ของสรรพสิ่ง ในความเป็นปกติของตัวเองแต่ละประเภท แต่ละชนิด ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นสิ่งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ปรุงแต่งขึ้น ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งล้วนสืบรากเหง้าจากวิชาปรัชญา ด้านภววิทยา จริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ญาณวิทยา คุณวิทยา และสุนทรียศาสตร์

วิถีปฏิบัติที่พอดี พอเหมาะ พอประมาณ พอเพียง และสมเหตุสมผล สำหรับการมีชีวิตที่ดีมีสุขมีลักษณะ ๒ ประการ คือ ไม่ขาดกับไม่เกิน ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตให้มีความสมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญาของบุคคล และสัมพันธภาพทางสังคม  มนุษย์ประกอบกิจกรรมที่ดีทุกอย่างเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดคือ ความดีสูงสุด เพราะเป็นคุณค่าสูงสุดเหนือจุดหมายอื่น ๆ เป็นจุดหมายที่มีคุณค่าในตัว คือ ความเป็นเลิศของมนุษย์ เป็นคุณค่าสูงสุดเหนือคุณค่าใด ๆ เป็นความสุขที่สมบูรณ์และประเสริฐสุดที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมชีวิตตามอารยวิถีแนวมัชฌิมนิยม

คนไทยแต่เดิมมานิยมวิถีชีวิตตามอัตภาพสมชีวิตา พอดี พออยู่พอกิน แนวมัชฌิมนิยม อนุโลมตามกฎธรรมชาติ เอาความเป็นไปของธรรมชาติเป็นครูและแบบอย่าง ทำให้ชีวิตได้ดุลยภาพ ความพอดี พอเหตุพอผล ตามตรรกศาสตร์ ลูกไทยหลานไทยได้พัฒนาชีวิตขึ้นเป็นปรีชาญาณชน ที่เข้าใจและเข้าถึงคุณค่าทางสัจธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสังคหธรรม สร้างสมวุฒิภาวะแห่งการเรียนรู้  โดยประสบการณ์ชีวิตและการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนา รวบรวมองค์ความรู้  แนวคิดความเห็น  ความเชื่อและคตินิยมเหล่านั้น  ประมวลสรุปเป็นปรัชญาไทย สำหรับสร้างวิถีไทยแนวธรรมชาตินิยม  มนุษยนิยม สัมพัทธนิยม และประโยชน์สุขนิยม รวมลงที่มัชฌิมนิยม ให้เป็นมรดกทางปัญญาสมบัติอันล้ำค่าสืบทอดสู่ลูกหลานไทย

  วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

           รศ. ดร.สิวลี  ศิริไล  ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ปรัชญากฎหมายจากตำนานเรื่อง เปาบุ้นจิ้น : บทวิพากษ์เชิงจริยศาสตร์  สรุปความได้ว่า เปาบุ้นจิ้น (เปาชิงเทียน) เป็นเจ้าเมืองไคฟงในสมัยจักรพรรดิองค์ที่ ๓-๔ ของราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) เหนือ ได้รับการยกย่องและเป็นที่เคารพอย่างสูงในเรื่องของความเป็นผู้มีคุณธรรมที่สำคัญคือ ความกตัญญู ความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความชอบธรรม โดยเฉพาะในการตัดสินคดีความซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้เป็นนายอำเภอ เป็นเจ้าเมือง  ประวัติของเปาบุ้นจิ้นไม่พบมากนักในหนังสือประวัติศาสตร์ของจีน มีเพียงชื่อ ตำแหน่งและคุณธรรมที่ได้รับการยกย่อง  เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องในสมัยโบราณที่เล่าสืบทอดกันต่อมาในรูปของวรรณกรรมพื้นบ้าน การแสดงละคร และบทภาพยนตร์ในสมัยปัจจุบัน เนื้อหาของบทความนี้ได้จากภาพยนตร์ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓

            เปาบุ้นจิ้นเกิดในครอบครัวเกษตรกรชั้นกลาง มีพี่ชาย ๒ คน เมื่อแรกเกิดมีผิวหน้าเป็นสีดำและมีปานนูนรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบนหน้าผาก ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของเพื่อนบ้าน บิดามารดาคิดจะนำไปทิ้ง แต่พี่สะใภ้คนโตซึ่งคลอดบุตรชายในเวลาเดียวกับที่เปาบุ้นจิ้นเกิดรู้สึกเมตตาสงสารจึงนำมาเลี้ยงดูให้ดื่มนมของตนคู่กับ
เปาเหมี่ยนบุตรชาย (ซึ่งเป็นหลานของเปาบุ้นจิ้น)  เมื่อเติบโตขึ้นเปาบุ้นจิ้นเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด เรียนหนังสือเก่ง สอบได้เป็นจอหงวนเมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี  เข้ารับราชการและเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ จนได้เป็นเจ้าเมืองไคฟงซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรซ่งเหนือ

เปาบุ้นจิ้นถือหลักในการบริหารงานว่า “จิตใจสะอาด บริสุทธิ์ ถือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ไว้อย่าให้คนรุ่นหลังเย้ยหยันได้”  ด้วยคุณธรรมความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรมของเปาบุ้นจิ้นทำให้ได้รับความไว้วางพระทัยจากองค์ฮ่องเต้ ได้รับพระราชทานหวายทองคำจากฮ่องเต้องค์ที่ ๓ และกระบี่อาญาสิทธิ์จากฮ่องเต้องค์ที่ ๔ สามารถประหารชีวิตผู้ใดก็ได้ตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระราชวงศ์โดยไม่ต้องรับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หลังจากประหารแล้วให้จัดทำรายงานกราบบังคมทูล

กระบวนการพิจารณาและตัดสินคดีความของเปาบุ้นจิ้นพิจารณาจากกรอบของปรัชญากฎหมายตะวันตก มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

– ความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมกับกฎหมายมีความสัมพันธ์ที่จำเป็น จริยธรรมเป็นหลักการพื้นฐานของการดำรงชีวิตในสังคมและเป็นพื้นฐานของกฎหมาย การกระทำที่ผิดต่อหลักจริยธรรมของสังคมนำไปสู่การกระทำความผิดทางกฎหมาย

– กฎหมายคือกฎหมาย (law is law) เป็นข้อกำหนดของบ้านเมือง ทุกคนต้องปฏิบัติตามและทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

– การลงโทษตามกฎหมายคือการชดเชยความผิดที่ได้กระทำไป การฆ่าคนเป็นการกระทำผิดที่ต้องถูกลงโทษประหารชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น

– การใช้เหตุผลทางกฎหมายเป็นไปตามพยานหลักฐานทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล ประกอบกับการลงนามยอมรับความผิด

– จริยธรรมคุณธรรมของตุลาการผู้พิพากษาคดีมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การพิจารณาและตัดสินความอย่างเที่ยงธรรม  รวมถึงการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวเมื่อเผชิญสถานการณ์ทางสองแพร่ง (dilemma) ที่ต้องตัดสินใจ

โดยภาพรวมแล้ว แนวความคิดทางปรัชญากฎหมายที่ได้จากตำนานเรื่องเปาบุ้นจิ้นเป็นไปตามลักษณะของปรัชญาจีน คือเน้นเรื่องของจริยศาสตร์เชิงปฏิบัติ (practical ethics) ที่ถือหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ในบรรดาหลักจริยธรรมของสังคม ความกตัญญูเป็นหลักจริยธรรมอันดับแรกที่มาก่อน ทำให้ลักษณะสำคัญของจริยศาสตร์ในสังคมจีนเป็นจริยศาสตร์เชิงพรรณนา (descriptive ethics) มากกว่าการโต้แย้งแบบจริยศาสตร์ตะวันตก