วันพุธที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ศ. ดร.พีระศักดิ์  ศรีนิเวศน์ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง  การสร้างพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ : ตัวอย่างในสบู่ดำ สรุปความได้ว่า แนวคิดเรื่องการสร้างพืชชนิดใหม่ เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เพื่อปรับเปลี่ยนพืชธรรมดาที่พบอยู่ทั่วไปให้เป็นไม้ดอก-ไม้ประดับ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าพืชเดิม ตัวอย่างเช่น ได้มีการคัดเลือกต้นทานตะวันที่กลายพันธุ์ ทั้งที่กลายพันธุ์โดยธรรมชาติและที่มนุษย์ใช้รังสีหรือสารเคมีทำให้กลายพันธุ์ กลายเป็นต้นทานตะวันต้นเล็ก มีดอกขนาดเล็ก ดอกดกสีสวยงาม ทำเป็นไม้กระถางหรือจัดสวนหย่อม ไม้ดอก-ไม้ประดับอย่างอื่นที่ปกติเป็นพืชไร่ แต่มีผู้นำพันธุ์กลายไปผลิตจำหน่ายแล้ว ได้แก่ ละหุ่ง สับปะรดสี งา คำฝอย แต่พืชกลายพันธุ์ยังไม่ถือว่าเป็นการสร้างพืชชนิดใหม่ แต่เป็นการค้นพบลักษณะที่ยังไม่เคยพบในธรรมชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับสบู่ดำซึ่งเป็นพืชน้ำมันที่มีศักยภาพใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตไบโอดีเซลนั้น มีข้อดีที่สามารถผสมพันธุ์กับพืชชนิดอื่นได้อีกหลายชนิด (specie) ในสกุล Euphorbiaceae ด้วยกัน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการสร้างพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ โดยก่อนจะเริ่มผสมพันธุ์ข้ามชนิด (interspecific hybridization) ก็จะต้องศึกษาเทคนิคการผสมพันธุ์ ทั้งวิธีการตรวจสอบความพร้อมของดอก การเตรียมดอกตัวเมีย ความงอกของเมล็ดที่ผสมข้ามชนิด ความเป็นหมันของลูกชั่วที่ ๑ เป็นต้น หลังจากนั้นจึงนำลูกที่ได้ โดยเฉพาะลูกชั่วที่ ๒ มาคัดเลือกจนกระทั่งได้เป็นสบู่ดำพันธุ์ประดับ และต้องศึกษาวิธีขยายพันธุ์และวิธีปลูกด้วย ในการผสมพันธุ์ข้ามชนิดอาจจะทำได้เพียงทางเดียว เช่น ต้องใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นต้นแม่เสมอ บางครั้งเมล็ดร่วงก่อนกำหนดก็ต้องกู้ชีวิตเอ็มบริโอ (embryo rescue) พอได้ต้นลูกผสมแล้วเราอาจต้องตรวจสอบโดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อยืนยันว่า ต้นที่ได้เป็นลูกผสมข้ามชนิดจริง หลังจากนั้นก็ต้องศึกษารุ่นลูก เช่นกรณีสบู่ดำ ลูกชั่วแรกอาจจะให้ดอกเพียงสองสี เช่น สีขาวหรือสีชมพู แต่ลูกที่เกิดจากการผสมตัวเองเพื่อผลิตต้นชั่วที่ ๒ ก็จะมีดอกหลายสีเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบผลสำเร็จในการสร้างลูกผสมลูกชั่วที่ ๒ ที่มีดอกสีต่าง ๆ รวมทั้งยังได้ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์แบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยพบว่า สบู่ดำต้นใหญ่ สามารถผสมพันธุ์กับเข็มปัตตาเวียต้นแคระ กลายเป็นไม้ดอก-ไม้ประดับต้นเล็ก ปลูกลงกระถางได้ โครงการฯ จึงได้ขึ้นทะเบียนสบู่ดำลูกผสมข้ามชนิดถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร แล้ว ๖ พันธุ์ โดย ๓ พันธุ์ขึ้นทะเบียนกับ American Society for Horticultural Science ไว้ด้วย ซึ่งเมื่อส่งพันธุ์เหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมพืชสวนสหรัฐอเมริกา บรรณาธิการของวารสาร HortScience เห็นว่ามีดอกสวยงาม จึงได้ให้เกียรติขึ้นปกวารสาร ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ อีกด้วย

  วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ศ. ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ ภาคีสมาชิก และ ดร.ชาติชาย ไวยสุระสิงห์   ศูนย์วิจัยโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันบรรยายเรื่อง บทสรุปการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชนในลุ่มน้ำชี  สรุปความได้ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำให้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานให้กับประเทศ ลุ่มน้ำชีเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีศักยภาพในการการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชน จึงได้มีการศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชนในลุ่มน้ำนี้

จากการประเมินศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำขนาดเล็กมาก (Micro Hydropower) ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีโดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับกระบวนการตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์พบว่า พื้นที่ที่สามารถให้กำลังผลิตติดตั้งได้มากกว่า 5kW มีทั้งสิ้น ๗๐ แหล่งโดยมีกำลังผลิตรวม 23MW แบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้ (๑) โครงการศักยภาพอ่างเก็บน้ำ ๒๗ โครงการ (๒) โครงการศักยภาพตามแนวลำน้ำ ๓๖ แหล่ง (๓) โครงการศักยภาพฝาย ๖ โครงการ และ (๔) โครงการศักยภาพเขื่อน ๑ โครงการ พื้นที่เหล่านี้ได้ถูกนำมาจัดลำดับความสำคัญด้วยใช้การตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์  พิจารณา ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชน  โครงการชีลอง ๔ ได้รับการคัดเลือกมาพัฒนาเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากสำหรับชุมชนนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำชี

สถานีไฟฟ้าชีลอง ๔ จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นบนฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง วิธีการนี้ทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการดูแลสถานีโรงไฟฟ้าชุมชนและพื้นที่ข้างเคียง พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อใช้งานจริง การเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนนี้ทำให้เกิดตัวอย่างของการพัฒนาสถานีโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนของประเทศ