วันพุธที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ผศ. ร.ท. ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ ภาคีสมาชิก บรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะพระมานุษิโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ในกายมนุษย์) สรุปความได้ว่า พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระราชาที่ประเสริฐสุดของไทยพระองค์หนึ่ง ทรงใช้พระบารมีธรรมปกครองบ้านเมืองได้สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  คนไทยเชื่อกันว่าพระองค์เสด็จจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อช่วยบ้านเมืองให้พ้นวิกฤติในยามคับขันเหมือนอย่างที่ศาสนาฮินดูนิยมเรียกบุคคลสำคัญที่ลงมาเกิดแล้วช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้ว่า “อวตาร” เมื่อประทับอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่งก็เสด็จสวรรคต คือ เสด็จกลับไปสู่สวรรค์สถานเดิมของพระองค์

เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้พระบารมีธรรมในการปกครองบ้านเมืองอย่างเดียวกับที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญบารมี จึงสมควรที่พระองค์จะได้รับการขนานพระเนมิตกนามว่า พระโพธิสัตว์เจ้า   ตามทฤษฎีตายแล้วเกิดในพระพุทธศาสนา คนหรือสัตว์นั้นตายแล้วเกิดทันทีหลังตายในสภาพที่เป็นโอปปาติกะ คือ มีร่างกายเป็นตัวตนสมบูรณ์อยู่ในสภาพกายทิพย์ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ  มีประสาทสัมผัสครบทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่มีศักยภาพสูงกว่าเมื่อครั้งอยู่ในกายมนุษย์  มีวิญญาณคือการรับรู้ต่าง ๆ คือการเห็นรูปได้ยินเสียงรับรู้กลิ่นรับรู้รสและรับรู้สัมผัสทางกายได้  มีเจตสิกต่าง ๆ คือ เวทนา สัญญา สังขาร  ตามทฤษฎีนี้ พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงเกิดใหม่แล้วในสภาพโอปปาติกะที่ยิ่งใหญ่มีสถานะเป็นเทวดาชั้นสูง เพราะเชื่อมั่นในสภาพจิตของพระองค์ที่ทรงคุ้นเคยกับความดีมาตลอด ก่อนสวรรคตจึงน่าจะถูกปรุงแต่งด้วยกุศลเจตสิกให้มีพระราชดำริเป็นมหากุศลแล้วทรงอุบัติในสวรรค์ชั้นยิ่งใหญ่

  วันพุธที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ศ.อรุณรัตน์  วิเชียรเขียว ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง ๕๐๐ ปี โคลงนิราศหริภุญชัย : คุณค่าและความทรงจำ สรุปความได้ว่า โครงนิราศหริภุญชัย เป็นวรรณกรรมล้านนาโบราณ แต่งเมื่อพุทธศักราช ๒๐๖๐ ตรงกับรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘) กษัตริย์ล้านนา-เชียงใหม่ ราชวงศ์มังราย  ลักษณะคำประพันธ์แต่งเป็นโคลงล้านนาโบราณ จำนวน ๑๘๐ บท จารลงใบลานและบันทึกลงในพับสา ด้วยอักษรไทยนิเทศ และอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง)  ต้นฉบับมีหลายฉบับ แต่ละฉบับมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันบ้าง  เนื้อหากล่าวถึงการพลัดพรากจากนางอันเป็นที่รัก ผู้แต่งได้เดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัยในเมืองลำพูนด้วยขบวนเกวียน เริ่มออกจากวัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ ผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ และพักค้างคืนที่ตลาดต้นไร ๑ คืน เมื่อได้ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ในเมืองลำพูนแล้ว พักแรมในเมืองลำพูน ๑ คืน แล้วเดินทางกลับเชียงใหม่

คุณค่าของโครงนิราศหริภุญชัยมีอยู่หลายด้าน ดังนี้

๑. คุณค่าด้านภาษา  โครงนิราศหริภุญชัยเป็นวรรณกรรมโบราณอายุ ๕๐๐ ปี ภาษาที่ใช้คือภาษาล้านนาโบราณ ซึ่งผู้สนใจภาษาโบราณสามารถนำไปศึกษาหารากหรือที่มาของคำในภาษาล้านนาปัจจุบันได้

๒. คุณค่าด้านประวัติศาสตร์  โครงนิราศหริภุญชัยบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อน ช่วยสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต การคมนาคม วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนคติความเชื่อ

๓. คุณค่าด้านวรรณกรรมท้องถิ่น โครงนิราศหริภุญชัยสะท้อนถึงจารีตในการเขียนวรรณกรรมล้านนาโบราณได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแบบอย่างต่อวรรณกรรมนิราศสมัยต่อ ๆ มาด้วย

๔. คุณค่าด้านโบราณคดี  โครงนิราศหริภุญชัยช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถตรวจสอบเรื่องราวและที่ตั้งของวัดในเมืองเชียงใหม่สมัยโบราณ ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้แต่งวรรณกรรมได้กล่าวถึง

๕. คุณค่าด้านการผังเมือง  โครงนิราศหริภุญชัยสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำในเมืองเชียงใหม่ในอดีตไว้อย่างดี เช่น หนองน้ำ คลองระบายน้ำ คลองที่ใช้คมนาคม ถนน กำแพง สุสาน

นอกจากนี้ โครงนิราศหริภุญชัยยังทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงผู้คน สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อในอดีต ซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนนั้น ได้สืบทอดมาสู่ปัจจุบัน เช่น การชลประทานในตัวเมืองเชียงใหม่ วัดในเมืองเชียงใหม่ ผีอารักษ์มังราย การเดินทางโดยขบวนเกวียนที่อลังการ ตำนานเมืองลำพูน มหรสพในสมัยโบราณ ความเชื่อของคนล้านนาโบราณ